ยินดีต้อนรับครับ

ยินดีต้อนรับครับ

ทักทาย

ผมลองจัดระเบียบบล็อกใหม่ดูนะ ครับ

โดยแบ่ง Group Blog ออกตามประเภทของหนังและนิยายนะครับ
เพราะคิดว่าหลายคนส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบ ดูหนังทุกประเภท

เช่น บางคนชอบดูหนัง Romantic แต่ไม่ชอบดูหนังสยองขวัญเลย เพราะไม่ชอบ น่ากลัว

บางคนก็ชอบดูหนัง สยองขวัญเป็นชีวิตจิตใจ หนังชีวิตน่าเบื่อมาก ไม่ชอบดู

ผมเลยแบ่ง หมวดหมู่เป็นประเภทของหนัง (แต่ตอนนี้แต่ละหมวดยังน้อยอยู่) เผื่อว่าใครผ่านเข้ามาในบล็อกแล้วอยากจะอ่านรีวิวเก่า ๆ จะได้เลือกได้ตามประเภทของหนังตามที่ชอบได้

ที่แบ่งตั้งแต่ตอนนี้ แม้หนังที่เขียนยังไม่เยอะ เพราะคิดว่าต่อไปเกิดเยอะมาแบ่งที่หลังจะยิ่งเสียเวลาน่ะครับ

บางเรื่องก็แบ่งยากเหมือนกัน มันคาบเกี่ยวกัน แต่ผมจะพยายามยึดอารมณ์ของหนังเป็นหลักน่ะครับ

อ้อ แล้วก็ในบล็อกผมตั้งใจจะขึ้นคำเตือนในทุกบล็อกว่าตรงไหนคุยแบบไม่สปอยล์ ตรงไหนคุยแบบสปอยล์ เวลาใครมาอ่านจะได้อ่านแบบสบายใจได้ไม่ต้องกลัวถูกสปอยล์นะครับ

ถ้าใครแวะมาแล้วไม่รู้จะคอมเมนต์ อะไร ก็ฝากข้อความทิ้งไว้ที่ Shout Box ด้านข้างได้นะครับ


ขอบคุณ ทุกท่านที่แวะเวียนมาอ่านนะครับ ผมก็จะแวะเวียนไปหาท่านด้วยเช่นกัน ตามโอกาสและเวลา

วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย : เมื่อเบื้องหน้าคือความตาย แล้วความหมายของชีวิตคืออะไร (movie version)



รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ

อิคิงามิ (Ikigami) สาส์นสั่งตาย เป็นหนังอีกเรื่องที่ได้สร้างจากการ์ตูนชื่อดังในชื่อเดียวกัน (ผมได้อ่านถึงเล่ม 5 ชอบสุด ๆ)

ทราบมาว่าการ์ตูนหรือที่เรา ๆ ท่าน ๆ ชาวเฉลิมไทยเรียกว่ามังงะ ได้รับความนิยมมากมียอดขายทะลุล้านเล่ม และมีบริษัทผลิตหนังถึง 53 บริษัทเสนอแย่งกันผลิตหนังจากการ์ตูนเรื่องนี้ แต่สุดท้าย TBS ก็ได้ไป


อิคิงามิเป็นเรื่องราวในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกกฏหมายที่ชื่อว่า "กฏหมายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ" โดยเด็กทุกคนเมื่อเข้าสู่ชั้น ป.1 จะต้องถูกฉีดวัคซีนที่มีนาโนแคปซูลฝังลงไว้ในตัวทุกคน และเมื่อถึงอายุ 18-24 ปี แคปซูลจะแตกตัวออกที่เส้นเลือดใกล้หัวใจตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและทำให้คนนั้นตายในทันที โดยมีอัตราส่วนที่ 1 ในพันคน

ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะตายหรือไม่ หรือตายเมื่อไหร่ มีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่ทราบ

โดยกฏหมายนี้บัญญัติขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าการมีชีวิตอยู่ ซึ่งถือเป็นรากฐานของประเทศ (ตามที่กล่าวอ้างในเรื่อง) เพื่อคนทุกคนจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เพราะไม่รู้ว่าวันเวลาของตัวเองจะหมดลงเมื่อไหร่

ฟูจิโมโตะ พระเอกของเรื่อง (รับบทโดยโชดะ มัตสึดะ) เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มาทำงานในตำแหน่งผู้ส่งสาส์น อิคิงามิ


อิคิงามิ เป็นใบแจ้งมรณกรรมล่วงหน้า โดยทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลจะแจ้งให้ผู้ที่ต้องเสียชีวิต (หรือสละชีพเพื่อชาติ) ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้สะสางเรื่องราวของตัวเอง ได้ร่ำลาคนที่ตัวเองรัก ได้ทำสิ่งที่ยังไม่ได้ทำที่ติดค้างอยู่ โดยรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก อาหารการกินทุกอย่าง เพียงแค่โชว์ใบอิคิงามิ ก็จะได้รับการยกเว้นทันที และครอบครัวของผู้ตายก็จะได้เงินชดเชยจากรัฐบาลในฐานะผู้ที่สละชีพเพื่อชาติ เพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ

แต่ถ้าเขาคนนั้นทำสิ่งผิดกฏหมายต่าง ๆ เช่น ฆ่าคนตาย ไปขโมยของ วางเพลิง ข่มขืน ครอบครัวของผู้ตายก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยและต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

นี่จึงเป็นที่มาของคำถามหลักของหนังว่า "คุณจะทำอะไร เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องตายในเวลา 24 ชม."

หนัง (หรือการ์ตูน) เลือกที่จะมองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สีชมพู ปฏิกริยาของตัวละครที่ได้รับอิคิงามิจึงมีแตกต่างกัน บางคนเคยเป็นคนเลวก็กลับใจ บางคนก็ระเบิดความโกรธแค้นที่มีในชีวิตออกมา บางคนกลับไปคืนดีกับคนที่ตัวเองบาดหมาง บางคนเลือกที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่น หรือทำเพื่อคนที่เรารัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อนเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เป็นเรื่องจริงที่คนเรามักละเลยเรื่องที่เราตั้งใจจะทำ หรือ เลือกจะที่จะไม่ทำบางสิ่ง เพราะเหตุผลว่าไว้ค่อยทำทีหลัง ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้อนาคตเลยด้วยซ้ำว่าเราจะมีชีวิตถึงเมื่อไหร่

ถ้าผมจำไม่ผิด ปธน.จอร์จ วอชิงตัน (ถ้าผิดก็ขออภัย) เคยเล่าว่า ตอนเด็ก (หรือเขากับคุณพ่อ) เขาเดินทางข้ามภูเขาในวันที่ฝนตกหนักเพื่อนำไข่ไม่กี่ฟองที่ยืมไปจากเพื่อนบ้านไปคืน เมื่อไปถึง เพื่อนบ้านคนนั้นบอกว่าเอามาคืนพรุ่งนี้ก็ได้ จอร์จ วอชิงตัน(หรือพ่อเขาเนี่ยแหละ) บอกว่าผมต้องคืนวันนี้ เพราะผมไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้ผมจะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า

หนังดำเนินเรื่องผ่านตัวเอกของเรื่อง ฟูจิโมโตะที่มีหน้าที่นำอิคิงามิไปมอบกับเป้าหมาย 3 รายด้วยกัน และได้มีโอกาสร่วมสังเกตุการณ์และรับรู้ชีวิตของพวกเขา

หนังคัดเลือกเรื่องราวเด่น ๆ จากหนังสือการ์ตูนมาทำเป็นเนื่้อหาสั้น ๆ 3 ตอนในหนึ่งเรื่อง และยังสอดแทรกเรื่องสั้น ๆ ไว้ตอนต้นเรื่องอีกหนึ่งเรื่อง โดยแต่ละตอนจะมีการแสดงออกของตัวละครที่แตกต่างกัน


ตอนสั้นๆ ตอนแรกตัวละครเลือกที่จะแสดงออกอย่างก้าวร้าวโดยการออกไปแก้แค้นเพื่อนที่เคยกลั่นแกล้งเขาในสมัยก่อน

ตอนที่ 1 บทเพลงที่ถูกลืม เป็นเรื่องของมิตรภาพของชายสองคนที่ตามหาความฝันของตัวเองโดยการเป็นนักดนตรีข้างถนน แต่วันหนึ่งเส้นทางชีวิตแยกเข้าออกจากกัน และทิ้งรอยบาดหมางไว้ในชีวิตของเขาทั้งคู่ จนเมื่ออิคิงามิถูกส่งถึงมือ (1 ใน 2 คนนั้น) ทำให้เขาทำบางอย่างเพื่อแสดงถึงมิตรภาพต่อเพื่อนรักในอดีต

ตอนที่ 2 พ่อแม่ลูกนักการเมือง เป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาสังคมอย่างหนึ่ง คือปัญหาครอบครัว พ่อแม่ไม่มีเวลาสนใจและใส่ใจดูแลลูกของตัวเอง ยึดไว้เพียงอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ทำเพื่อประเทศชาติ แต่ลืมไปว่าทุกสิ่งต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน ถ้าปกครองครอบครัวตัวเองไม่ได้ จะไปปกครองคนอื่นได้อย่างไร สิ่งที่ตัวละครในเรื่องทำเมื่อได้รับอิคิงามิจึงเป็นการแสดงออกที่ต่อต้านสังคม เพื่อระบายความโกรธแค้นในจิตใจ

ตอนที่ 3 พี่ชายน้องสาว น้องสาวตาบอดจากอุบัติเหตุ พ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เหลือญาติคือพี่ชายเพียงคนเดียว จนเมื่อวันหนึ่งพี่ชายมาบอกว่าได้งานทำเป็นหลักเป็นแหล่งแล้วจะรับน้องสาวมาดูแล ชีวิตดูเหมือนจะไปในทิศทางที่ดี แต่เมื่ออิคิงามิมาถึงมือนั้น ทุกอย่างที่วาดฝันไว้พังทลาย แต่แม้ดูเหมือนสิ้นหวังแต่ฝ่ายหนึ่งกลับวางแผนใช้เหตุการณ์ทำบางอย่างเพื่อส่งต่อความรักที่มีต่อกันฉันท์พี่น้องเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้อีกฝ่ายได้รับสิ่งที่ดีสุดจากตน แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้เป็นคนที่ดีอะไร อย่างที่พยายามทำให้เข้าใจตลอดมา

จริง ๆ แล้วเนื้อหาของอิคิงามิเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ไม่ยาก ไม่มีอะไรซับซ้อนหรือหักมุม เพราะเนื้อหาเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกกินใจแก่ผู้ชม กับมุ่งเน้นสะท้อนปัญหาสังคมผ่านเรื่องราว

แน่นอนว่าหลายคนที่ดูเรื่องนี้น่าจะชอบตอนที่ 1 , 3 และ 2 มากที่สุดตามลำดับ


โดยตอนแรกนั่นมีเพลงเอกที่ทำให้อารมณ์ของหนังนั้นพาคนดูอย่างเราให้รู้สึกซาบซึ้งระคนสงสาร คือเพลง "ป้ายบอกทาง"

ซึ่งในการ์ตูนตอนนี้ก็เป็นตอนที่คนอ่านส่วนใหญ่ประทับใจ แต่หนังมีดีกว่าตรงที่มีเพลงให้ได้ฟังด้วย และบทเพลงก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างถึงอารมณ์ เรียกว่าร้อยคนดู เชื่อว่าต้องร้องไห้ไม่ก็น้ำตาซึมแน่ ๆ

โดยเฉพาะผู้ชายอย่างผมมักไม่ค่อยเสียน้ำตาให้ฉากรักหรือพระเอกตาย นางเอกตายซักเท่าไหร่ แต่มิตรภาพของเพื่อนนั้นกินใจผู้ชายอย่างผมเสมอ....ผู้ชายท่านอื่นเห็นด้วยหรือเปล่า? 555

ตอนนี้ถือว่าค่อนข้างลงตัวที่สุด เพราะเราได้เห็นถึงความรู้สึกของผู้เป็นแม่ด้วย ที่ต้องเฝ้ามองวาระสุดท้ายของลูกตัวเอง โดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากให้กำลังใจ และสื่อสารเจตนาของลูกชายไปยังคนที่เขาตั้งใจจะสื่อสาร และมิตรภาพของเพื่อน

อยากจะพูดประโยคนี้จัง แม้จะไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องนี้โดยตรงก็ตาม "เพื่อนคือคนที่เดินเข้ามาหาเราเป็นคนแรก เมื่อคนทั้งโลกจากเราไป"

สำหรับตอนที่ 2 หลายคนคงคิดว่า ไม่มีก็ได้ จริง ๆ แล้วตอนที่ 2 ในการ์ตูนให้อารมณ์หม่นหมองมากกว่า และกดดันกว่า เพื่อสื่อให้เราเห็นผลเสียของการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดว่าส่งผลกระทบถึงคนอื่นอย่างไร และสุดท้ายแล้ววันหนึ่งมันก็อาจจะย้อนกลับมาหาเราโดยไม่รู้ตัว

แต่เมื่อตอนที่ 2 มาปรากฏอยู่ในเรื่อง จึงเป็นเหมือนตอนขั้นกลางเพื่อเว้นจังหวะ และเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่ง เพราะตอน 3 ก็กลับมาซึ้งอีก

แต่ผมเข้าใจว่าผกก.เลือกใส่ตอนที่ 2 เข้ามาเพื่อปูเรื่องไปสู่การสร้างภาคสอง เพราะในตอนท้ายเราจะเห็นว่าตัวละครหนึ่งตัดสินใจจะลงเล่นการเมืองเพื่อแก้ไขกฏหมายนี้ เนื่องจากตัวเองเป็นหนึ่งในผู้รับผลกระทบโดยตรง

อีกอย่างหนึ่งนั้น ในเรื่องเราจะเห็นบุคลิกของพระเอกที่แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่มีความคิดความอ่าน และจากการเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการตายของเป้าหมาย ทำให้เขาเกิดความรู้สึกคลางแคลงใจในเหตุผลของการมีอยู่ของ "กฏหมายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ"

พระเอกจึงเป็นตัวแทนของคนที่คิดนอกกรอบ อย่างรอบคอบ (ตอนต้นเรื่องเราเห็นไปแล้วว่าไม่รอบคอบจะเป็นอย่างไร)

นอกจากนั้นเรายังเห็นตัวแทนของผู้บริหารระดับกลาง คือหัวหน้าพระเอกที่แสดงให้เห็นกลาย ๆ ว่าอาจจะมีแนวคิดบางอย่างคล้ายพระเอก แต่เลือกที่จะทำตามระบบของรัฐบาลดีกว่าทำตัวมีปัญหา เป็นตัวแทนของคนดีที่เลือกที่จะปรับตัวยอมรับอำนาจของผู้อำนาจและไม่ขัดขืน เพื่อรักษาสถานภาพทางสังคมของตัวเองไว้ดีกว่า แต่ก็แสดงความห่วงใยพระเอกที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ให้อย่าทำอะไรบุ่มบ่าม

คิดว่าภาคต่อไปน่าจะมีบทบาทมากขึ้น


ส่วนตอนที่ 3 สำหรับผมเป็นตอนที่ให้ความรู้สึกน่ารักและอบอุ่น การแสดงของนักแสดงทั้งตัวพี่ชายก็ดี น้องสาวก็ดี แสดงได้ดี โดยเฉพาะตัวพี่ชายที่แสดงอารมณ์ทางสีหน้าและคำพูดได้ดีในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางอารมณ์ (ภายในเป็นอย่างหนึ่ง แต่ต้องแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง)

บทหนังตอนนี้เลือกจะเล่าเรื่องโดยการให้เรื่องราวพาตัวหนังไปถึงจุดไคลแมกซ์เอง ไม่ใส่เพลง หรือบีบคั้นอารมณ์ให้ฟูมฟายแต่อย่างใด เป็นการจบเรื่องแบบประทับใจมากกว่าจะเศร้าเสียใจ

ซึ่งถือได้ว่าน่าพอใจ แต่หลายคนอาจจะคาดหวังให้หนังดึงความรู้สึกของเราอย่างเต็มที่ ซึ่งผมคิดว่าอารมณ์ของหนังตอนนี้แตกต่างจากตอนแรกไปคนละแบบ

เมื่อผมดูจบก็เห็นว่าหนังหรือหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้นั้นมีประเด็นเสียดสีสังคมคล้าย ๆ กันกับ Battle Royal การ์ตูนเรื่องดังที่ได้สร้างเป็นหนังเช่นกัน

เรื่องนั้นก็เสียดสีสังคมและความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่มืดมนกว่า และกินใจน้อยกว่า (แต่สะเทือนใจกว่า)

อิคิงามิ จึงเป็นภาพยนตร์ที่ดูจบแล้วบอกต่อได้ไม่อายปาก

และถ้าคุณจะดูอย่างมีความหมาย เมื่อดูจบ ก็ให้ถามตัวเองว่า "คุณทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้วหรือยัง"

อย่าลืมรักพ่อรักแม่ให้มาก ๆ ในวันที่เขายังอยู่ (หรือคุณยังอยู่) นะครับ

7.5/10 คะแนน




เพลงป้ายบอกทางครับ ถ้ายังไม่ได้ดูแนะนำว่าอย่าเพิ่งฟังดีกว่า


Free TextEditor

6 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 พฤษภาคม 2553 เวลา 01:33

    กะลังดูอยู่เลยคับ

    ประทับใจตอนแรกที่สุด แต่ทุกตอนก็ดีหมดคับ

    - ขโง

    ตอบลบ
  2. ครับ ผมก็ชอบตอนแรกสุดเหมือนกัน เพราะมันมีเพลงช่วยเรื่องบรรยากาศด้วยน่ะครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ9 สิงหาคม 2553 เวลา 12:34

    หนังดี การ์ตูนดีครับ T^T
    ดูแล้ว...เรียกน้ำตา

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ10 ธันวาคม 2553 เวลา 22:17

    น่าสนใจ
    มาก ๆ เลยค่ะ

    แค่อ่านก็รู้สึกว่าตัวเองต้องทำตังให้มีคุณค่ามากกว่านี้ค่ะ

    ตอบลบ
  5. ลองหามาดูครับ หนังดีมาก ๆ ครับ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ3 มกราคม 2554 เวลา 22:43

    อ่า อาจจะมาคอมเม้นช้าไปหน่อย แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องนึงที่ผมชอบในบรรดาภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลายๆเรื่อง

    ที่สำคัญ เพลงป้ายบอกทาง เป็นเพลงที่ผมอยากฟังมันอีกครั้งมาก

    ตอบลบ