ยินดีต้อนรับครับ

ยินดีต้อนรับครับ

ทักทาย

ผมลองจัดระเบียบบล็อกใหม่ดูนะ ครับ

โดยแบ่ง Group Blog ออกตามประเภทของหนังและนิยายนะครับ
เพราะคิดว่าหลายคนส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบ ดูหนังทุกประเภท

เช่น บางคนชอบดูหนัง Romantic แต่ไม่ชอบดูหนังสยองขวัญเลย เพราะไม่ชอบ น่ากลัว

บางคนก็ชอบดูหนัง สยองขวัญเป็นชีวิตจิตใจ หนังชีวิตน่าเบื่อมาก ไม่ชอบดู

ผมเลยแบ่ง หมวดหมู่เป็นประเภทของหนัง (แต่ตอนนี้แต่ละหมวดยังน้อยอยู่) เผื่อว่าใครผ่านเข้ามาในบล็อกแล้วอยากจะอ่านรีวิวเก่า ๆ จะได้เลือกได้ตามประเภทของหนังตามที่ชอบได้

ที่แบ่งตั้งแต่ตอนนี้ แม้หนังที่เขียนยังไม่เยอะ เพราะคิดว่าต่อไปเกิดเยอะมาแบ่งที่หลังจะยิ่งเสียเวลาน่ะครับ

บางเรื่องก็แบ่งยากเหมือนกัน มันคาบเกี่ยวกัน แต่ผมจะพยายามยึดอารมณ์ของหนังเป็นหลักน่ะครับ

อ้อ แล้วก็ในบล็อกผมตั้งใจจะขึ้นคำเตือนในทุกบล็อกว่าตรงไหนคุยแบบไม่สปอยล์ ตรงไหนคุยแบบสปอยล์ เวลาใครมาอ่านจะได้อ่านแบบสบายใจได้ไม่ต้องกลัวถูกสปอยล์นะครับ

ถ้าใครแวะมาแล้วไม่รู้จะคอมเมนต์ อะไร ก็ฝากข้อความทิ้งไว้ที่ Shout Box ด้านข้างได้นะครับ


ขอบคุณ ทุกท่านที่แวะเวียนมาอ่านนะครับ ผมก็จะแวะเวียนไปหาท่านด้วยเช่นกัน ตามโอกาสและเวลา

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

หนีตามกาลิเลโอ : ดูสบาย ได้รอยยิ้ม แต่ (อุตส่าห์) หนีไปไกล น่าจะได้อะไรมากกว่านี้


รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ



คนหนึ่งหนีเรียน อีกคนหนึ่งหนีรัก

Dear Galileo หรือ หนีตามกาลิเลโอ ผลงานเดี่ยวเรื่องที่สองของผู้กำกับ Season change คุณต้น นิธิวัฒน์ ธราธร

หนังเล่าเรื่องราวของเพื่อนรักสองคนที่ต่างผิดหวังในชีิวิตคนละแบบ

เชอรี่ (รับบทโดยคุณต่าย ชุติมา) ผิดหวังกับผลการเรียน และอยู่ในระหว่างถูกพักการเรียน ส่วนนุ่น (รับบทโดยคุณเต้ย จรินทร) ผิดหวังจากความรัก ทั้งสองจึงชวนกันไปหางานทำที่อังกฤษด้วยกัน และถือโอกาสนี้ท่องเที่ยวและใช้ชีวิตในต่างแดนไปในตัว

จึงเป็นที่มาของหนังขายโลเกชั่นสวยงามและบรรยากาศสบายของเมืองใหญ่ ๆ ในยุโรป เช่น ลอนดอน ปารีส เวนิส ปิซ่า เป็นต้น

แต่อย่างที่บอกในหัวข้อเรื่อง หนังให้บรรยากาศสบาย ๆ ที่หลายคนอาจจะรู้สึกสนุกไปกับเรื่องราวและบรรยากาศโดยไม่คิดมาก แต่อีกหลายคนอาจจะรู้สึกว่า ทำไมมันเบาอย่างนี้

ดังนั้น ผมจะขอสรุปข้อดีของหนังจากความเห็นและความรู้สึกของผมก่อนแล้วกัน

1) ภาพสวย วิวสวย ดูแล้วสบายตา เห็นแล้วอยากไปเที่ยวให้สบายใจ (อันนี้แน่นอนเป็นเอกฉันท์)
2) นางเอกทั้งสองเล่นเข้าขากันได้เป็นอย่างดี ทั้งน่ารักสดใส และที่สำคัญไม่จงใจ
3) หนังให้ข้อคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่เรา แม้จะไม่ตอบโจทย์ที่หนังตั้งเอาไว้ก็ตาม


ขอพูดถึงการแสดงของนักแสดงหลักทั้งสามคนก่อนว่ากันที่จุดด้อยและภาพรวมนะครับ

ตัวละครของเชอรี่นั้น เป็นเด็กวัยรุ่นที่มีความมั่นใจในตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองสูง บางครั้งก็สูงจนทำอะไรแหกกฏ ถ้ามั่นใจว่าตัวเองไม่ผิดก็จะไม่ยอมรับ ยอมหักไม่ยอมงอ จนเป็นที่มาของเรื่องราวหลายอย่างที่เกิดในเรื่อง

คุณต่าย ให้การแสดงที่เหมือนแสดงเป็นตัวของตัวเอง ด้วยความที่มีบุคลิกติดตัวแบบนั้นอยู่แล้ว ในเรื่องเธอดูเป็นคนดื้อดึง ยอมรับอะไรได้ยากและหัวแข็ง แต่ในอีกทางก็รักและห่วงใยเพื่อนเป็นอย่างมาก

บทภาพยนตร์เปิดโอกาสให้คุณต่ายได้แสดงออกถึงฝีไม้ลายมือในซีนที่เรียกอารมณ์คนดูหลาย ๆ ซีน โดยเฉพาะฉากโทรศัพท์กลับบ้าน กับฉากถ่ายวิดีโอตอนท้ายของเรื่อง

เสียแต่ว่าการปูพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างเชอรี่และพ่อนั้นยังไม่สามารถทำให้เรารู้สึกร่วมกับความผูกพันของทั้งสองได้มากพอ และบทสรุปของเรื่องราวก็มาถึงกระทันหันและรู็สึกว่าเบาเกินกว่าที่เราจะรู้สึกอินกับการแสดงออกของตัวละคร

โดยสรุปแล้วถือว่าคุณต่ายให้การแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอ เป็นพัฒนาการที่ดีที่น่าจับตามอง แม้ผมจะรู้สึกว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ก็โอเค ถือว่าน่าพอใจ

(แต่ความรู้สึกของผม ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทควา่มเก่าเรื่อง "ความจำสั้น ฯ" นั้น ถ้าให้ผมเลือกระหว่้างคุณต่ายกับคุณญารินดา ผมให้คะแนนฝ่ายหลังมากกว่า และคิดว่าเธอน่าจะมีชื่อเข้าชิงรางวัลแทน)


ตัวละครของคุณเต้ย เป็นตัวละครที่มีหลายอย่างที่ตรงข้ามกับเชอรี่

นุ่นเป็นเด็กสาวที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงในกรอบ (แต่เชอรี่ พ่อตามใจ ไม่บังคับไม่กะเกณฑ์อะไร ซักผ้า ล้างจานให้ลูก จนกลายเป็นสร้างนิสัยไม่ดีให้กับเชอรี่ไปโดยไม่รู้ตัว) แม้อยู่ในวัยเรียนจบแล้ว พ่อแม่ก็ไม่ยอมปล่อยให้ห่างสายตา (อันนี้หลายคนบอกว่าก็น่ารักซะขนาดนั้น) แต่สุดท้ายเธอก็ลุกขึ้นมาปฏิวัติ ขัดใจพ่อแม่จนได้

การที่บทไม่ได้เรียกร้องการแสดงดราม่าขั้นเทพอะไรจากตัวละครตัวนี้ กลายเป็นข้อดี ทำให้ทุกครั้งที่คุณเต้ยขึ้นจอนั้น เธอแทบไม่ต้องแสดงอะไรมากมาย นอกจากใส่ความใสซื่อ น่ารักให้กับตัวละคร การพูดจาที่เป็นธรรมชาติ ถือเป็นโบนัสอย่างดีให้กับหนัง และอาจจะสำหรับคนดูผู้ชายอีกกลุ่มใหญ่



สำหรับบทของคุณเร แม็คโดนัลด์นั้น ผมว่าไม่มีใครเหมาะจะแสดงบทนี้เท่าคุณเรอีกแล้ว ใครจะพูดคำว่า "ใช้ชีวิต" กับ "ได้ตก" ได้เท่ห์ มีความหมาย แต่ไม่ชวนเลี่ยน หรือดูจงใจได้เท่านี้

เพราะถ้าเชอรี่คือพวกหัวขบถ ดื้อดึง ขวางโลก ส่วนนุ่นเป็นคนที่ขาดจุดยืน อ่อนต่อโลก หัวอ่อน ยอมตามเพื่อน ตั้ม (หรือสิทธิ) ก็คือตัวละครที่เปรียบเหมือนคนที่เห็นโลกมามาก และได้มองโลกในมุมมองที่เข้าใจ แต่ไม่ใช่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะมาสอนปรััชญาชีิวิตแก่เด็กดื้อรั้ันคนหนึ่งและหัวอ่อนคนหนึ่ง เขาแค่มองโลกอย่างตรงไปตรงมา และพูดมาออกมาตรง ๆ เท่านั้นเอง

ซึ่งคุณเรมีแคแรคเตอร์แบบนั้นติดตัวอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

สิ่งที่ดูขัดใจอยู่บ้างในหนังเรื่องนี้คือ ความสมเหตุสมผล การหาทางออกที่ง่ายไปหน่อยให้กับตัวละคร เช่น
การเดินทางข้ามประเทศ เหมือนนักท่องเที่ยวที่มีเงินทองอย่างเหลือเฟือ
การหางานทำในร้านอาหารที่ดูเหมือนได้มาอย่างง่ายดาย (ถ้าใครมีประสบการณ์ น่าจะรู้ดี)
การให้นางเอกประสบความสำเร็จ แบบที่รู้สึุกว่า ง่ายไปไหม
และโดยเฉพาะฉากจบตอนท้ายที่ขาดความสมเหตุสมผลอย่างไม่น่าให้อภัย ว่าทำไมไม่มารับด้วยกัน ต้องยืนแยกกันทำไม


แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อบกพร่องของหนังเรื่องนี้มากที่สุด คือหนังไม่ตอบโจทย์ความเป็น Road movie ซึ่งนั้นคือแนวทางที่หนังเลือกจะนำเสนอ

หนังอาจจะะนำเสนอเรื่องราวที่ดูเหมือนเบาบางอยูบ้าง จนคนดูส่วนหนึ่งรู้สึกว่าหนังทั้งเรื่องกลวง นั่นก็เข้าใจได้ เพราะสไตล์ของหนังแนวนี้ส่วนใหญ่ ถ้าไม่ทำออกมาแบบดราม่าหนักอึ้งอย่าง The Road , The Book of Eli ก็จะมาแบบสบาย ๆ อย่าง Sideway หรือ Little miss sunshine

แต่หนังแนวนี้มักนำเสนอตัวละครที่ได้เรียนรู้ชีวิตของตัวเองบางอย่างจากการเดินทาง ซึ่งในเรื่องนั้นนุ่นผิดหวังในความรักเพราะลักษณะนิสัยบางอย่าง ส่วนเชอรี่ถูกพักการเรียนเพราะนิสัยส่วนตัวบางอย่าง แต่สุดท้ายแล้วผมไม่ได้รู้สึกเลยว่าทั้งสองคนได้เรียนรู้อะไรจากการเดินทางครั้งนี้ในประเด็นที่หนังวางเอาไว้

หนังกลับหาทางออกให้กับทั้งสองในทิศทางที่ต่างออกไป ไม่ได้เน้นย้ำให้เห็นพัฒนาการของตัวละครในประเด็นที่เรื่องผูกไว้ในตอนต้น

ซึ่งถือว่าน่าเสียดายและผมรู้สึกว่าเป็นข้อบกพร่องหลักของหนัง

แ่ต่ความดีงามของหนังก็ยังมีอยู่ คือ หนังทำให้เราดูสนุกได้ แม้จะไม่มีเนื้อหาที่หนักแน่น


ถ้าจะมีอะไรอยู่บ้างก็คือ 3 ฉากสั้น ๆ ในเรื่องของตั้ม คือฉากอธิบายเรื่องที่อยู่ของพวกเขา ฉากตกปลา และฉากเข็นจักรยานคุยกับนุ่น ซึ่งทำให้คนดูอย่างเรา ๆ ได้เก็บอะไรจากหนังกลับไปบ้างมากกว่าเนื้อหาของหนังที่เหลือทั้งหมดใน 3 ประเทศซะัอีก

หนีตามกาลิเลโอ จึงเป็นหนังที่อุตส่าห์ไปซะไกล กลับให้น้อย แต่ก็มีรอยยิ้ม ดูจบสบายใจ
เป็นหนังผ่านมาตรฐาน แต่ยังไม่ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ๆ ของ GTH

ให้คะแนน 6.5/10 ครับ

(หลายท่านอาจจะบอกว่า ทำไมเจ้าของบล็อกโลเลอย่างนี้ 555 ตกลงหนังดี ไม่ดี ก็ขอแทงกั๊กไว้ตรงนี้แล้วกัน และคิดว่าหัวข้อบทความอธิบายความรู้สึกอยู่แล้ว ขอบคุณที่ติดตามครับ)

วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

October Sonata รักที่รอคอย : หนังคุณภาพ คนที่อินย่อมซาบซึ้ง แต่อาจไม่ถึงในบางประเด็น


รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ

น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ทำรายได้ไปน้อยนิดตอนฉายในโรง รู้สึกจะไม่เกิน 10 ล้าน
น่าเสียดายที่คนดูหนังไทยหลายคน อยากให้วงการหนังไทยผลิตหนังดี มีบทที่แข็งแรงออกมา แต่พอถึงเวลานั้นหนังที่ทำรายได้ก็ยังเป็นหนังตลก ที่เน้นมุกหยาบคายอยู่ดี

ผมไม่ได้่ต่อต้านหนังตลกแต่อย่างใด เพียงแต่เสียดายแทนหนังน้ำดีที่ถูกมองข้าม (ตัวผมก็ไม่ได้ไปดูในโรงเหมือนกัน เพราะไม่ค่อยมีเวลา ช่วงหลัง ๆ มาก็ไม่ได้ไปดูหนังโรงนานแล้วเหมือนกัน อาศัยเก็บแผ่นเอา)

ผมดูหนังเรื่องนี้จบแล้วสัมผัสถึงกลิ่นอายของหนังที่มีส่วนคล้ายกับเรื่อง the Classic หนังรักเกาหลีในดวงใจของใครหลายคน

เปล่า ผมไม่ได้บอกว่าหนังก็อปปี้ แต่หนังอาจได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องนั้น ซึ่งสำหรับผมไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้วถ้าจะเป็นเช่นนั้น เพราะหนังก็มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง มีแนวทางเป็นของตัวเอง และมีประเด็นที่หนังหยิบยกมาพูดเป็นของตัวเอง


October Sonata เป็นหนัง Romantic Drama ดำเนินเรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2513 ซึ่งเป็นวันที่พระเอกมิตร ชัยบัญชาเสียชีวิตจากการตกเฮลิคอปเตอร์ (งามศพของมิตร ชัยบัญชา ถือเป็นงานศพของบุคคลธรรมดาที่มีผู้มาร่วมงานมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์) หลังจากนั้นหนังก็ดำเนินเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองไทยในยุคสมัยนั้นเรื่อยมา เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เป็นต้น

แสงจันทร์ (รับบทโดยคุณก้อย รัชวิน) สาวโรงงานนางเอกของเรื่อง ได้พบกับ รวี (รับบทโดยคุณโป๊บ ธนวรรธน์) ซึ่งแปลว่าดวงอาทิตย์ (พระเอกบอกให้นางเอกทราบ และหนังให้นัยยะแก่เราเมื่อนางเอกบอกว่า ชื่อเขาตรงข้ามกับเธอที่หมายถึงดวงจันทร์) หนุ่มนักศึกษามีอุดมการณ์ที่กำลังจะไปศึกษาต่อเมืองนอกโดยบังเอิญ เขาและเธอได้ร่วมเดินทางและได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันสั้น ๆ แค่คืนเดียวที่บังกาโลหมายเลข 11 โรงแรมแสนมุก โดยแม้ไม่มีความสัมพันธ์ทางกายกัน แต่เขาและเธอมีสัมพันธ์ทางใจต่อกันและกัน

แต่เมื่อวิถีชีวิตถูกกำหนดว่าต้องจำจากกัน รวีได้นัดหมายกับแสงจันทร์ว่าในวันที่ 8 ตุลาคมที่นี่เราจะกลับมาพบกันใหม่
แต่บางทีชีวิตคนเราก็เล่นตลก สิ่งที่วาดหวังไว้ บางครั้งก็ไม่สมใจหวัง

ลิ้ม (รับบทโดยคุณบอยพิษณุ) คือชายหนุ่มเชื้อสายจีนที่เข้ามาในชีวิตของแสงจันทร์ เขามอบความรักและความปรารถนาดีให้แสงจันทร์ และหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับแสงจันทร์ แต่นับจากวันที่ 8 ตุลานั้นเป็นต้นมา ที่ว่างในหัวใจของแสงจันทร์ก็ถูกแทนที่ด้วยรวี ชายหนุ่มที่เป็นรักแรกพบ และแรงบันดาลใจในการดำเนินชีิวิตของเธอ เธอไม่อาจตัดใจจากเขาได้ และเฝ้ารอคอยเขาด้วยความหวังว่าซักวันหนึ่ง.....

แต่จันทราซึ่งฉายแสงในเวลากลางคืน ก็ไม่อาจยืนเคียงข้างสุริยันในวันฟ้ากระจ่าง

ผมคิดว่า คำจำกัดความของโปสเตอร์ดารานำทั้งสามแบบให้ความหมายที่ครอบคลุมและลงตัวดีนะครับ

คนหนึ่งเฝ้าฝัน...คนหนึ่งเฝ้ารอ...อีกคนหนึ่งเฝ้ารัก....


หนังสร้างให้แสงจันทร์เป็นตัวละครที่มีภูมิหลัง ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ต้องใช้ชีวิตตกระกำลำบากอยู่กับป้าที่ไม่ได้รักเธอ พระเอกมิตร ชัยบัญชาอาจคือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างเดียวของเธอ ผมจินตนาการว่าความสุขของเธอคือการได้ดูหนังของพระเอกที่เธอชื่นชอบแสดง

สุดท้ายสิ่งยึดเหนี่ยวนั้นก็หลุดลอยไปด้วยอุบัติเหตุไม่คาดคิดของมิตร ชัยบัญชา
แสงจันทร์เป็นคนช่างคิด ช่างฝัน เธออาจเป็นคนที่มีโลกในจินตนาการในแบบของเธอ เพราะโลกความเป็นจริงของเธอนั้นมันไม่น่ารื่นรมย์

แต่แม้เธอเป็นคนช่างคิดช่างฝัน แต่ความคิดของเธอก็อยู่ในโลกแคบ เพราะความที่เป็นคนขาดการศึกษา ดังจะเห็นได้จากบทสนทนาของเธอที่มีต่อระวีในช่วงต้นเรื่อง

ต่อเมื่อเธอได้พบกับรวี ชายหนุ่มที่แสนดีและมีอุดมการณ์ เขาได้ทำให้เธอได้มองเห็นโลกใหม่ และได้เติมเต็มชีวิตส่วนที่ขาดหายให้เธอ ด้วยความที่มีจุดร่วมจากพื้นฐานชีวิตคล้าย ๆ กัน

ในค่ำคืนสั้น ๆ คืนนั้น บทประพันธ์ "สงครามแห่งชีวิต" จากปลายปากกาของศรีบูรพา (ซึ่งคุณสมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับ ได้บอกไว้ว่าเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้) ที่รวีได้อ่านให้แสงจันทร์ฟัง รวมกับความรักที่เธอมอบให้ชายหนุ่ม เป็นแรงผลักดันให้เธอมีชีวิตที่มีเป้าหมายกว่าที่ผ่านมา



คุณก้อยแสดงหนังเรื่องนี้ได้ดีในบทของสาวซื่อ ไร้เดียงสาที่อ่อนแต่โลก และบูชาในรักแท้ แต่ในส่วนของบทสาวโรงงาน เธอยังไม่อาจทำให้คนดูอย่างผมเชื่อได้สนิทใจ อาจเพราะคุณก้อยมีภาพลักษณ์ที่ดูดีเกินกว่าจะเชื่อได้ว่าเธอเป็นสาวโรงงานที่ตกระกำลำบากและอยู่กับผู้ปกครองใจร้าย

ทำให้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในตัวละครในแง่มุมนี้ถูกลดทอนลงไป แต่เราจะไปเห็นใจเธอจากการยึดมั่นในความรักที่มีต่อรวีซะมากกว่า

ส่วนพระเอกของเรา คุณโป๊บ สำหรับพระเอกหน้าใหม่ของวงการถือว่าสอบผ่านในบทที่ไม่ต้องแสดงออกทางอารมณ์อะไรมากนัก นอกจากเป็นผู้ชายแสนดี ที่ทำให้ผู้หญิงประทับใจ (แต่หน้าตาก็มีส่วนสำคัญ ถ้าหน้าตาแย่ มาขอจูงมือ หรือทายาใส่เท้า หรือนอนค้างคืนโรงแรมเดียวกัน ผู้หญิงที่ไหนจะมายอม...อนิจจา โลกเราช่างไร้ความยุติธรรมสำหรับผู้ชาย) กับทำหน้าซึม ๆ เศร้า อีกประมาณ 60 เปอร์เซนต์ของเรื่อง (ไม่ได้ประชด)

แต่คนที่ต้องได้รับคำชม และก็ได้มาแล้วจากหลายคนที่ดูหนังเรื่องนี้ คือ คุณบอยพิษณุ ในบทเฮียลิ้ม หนุ่มเชื้อสายจีนที่เทใจให้แสงจันทร์ตั้งแต่ต้นจนจบ

ลิ้มเป็นตัวละครที่ยืนอยู่บนโลกที่สุดแล้วล่ะครับ เขารักผู้หญิงที่เขาหลงรัก แต่ชีวิตก็ต้องก้าวต่อไป แม้ในท้ายที่สุด เขาเริ่มยอมรับได้ว่าเธอคงไม่รักเขาตอบ เขาก็ยินดีทำให้หญิงที่เขารักมีความสุขได้ ไม่ได้ทำตัวเป็นตัวอิจฉา ทั้งหมดในชีิวิตเขาก็แค่ต้องการสร้างครอบครัว สร้างฐานะและครองรักกับคนที่เขามอบหัวใจให้เท่านั้น แต่ชีวิตคนเราบางทีก็เหมือนนิยาย รักเขามากมาย แต่เขากลับรอคอยคนที่ไร้ตัวตน

เป็นคนนอกสายตามันเจ็บปวดอย่างนี้นี่เอง

ฉากที่เฮียลิ้มเอาซิปมาให้แสงจันทร์ทำให้ผมยิ้มออกมาได้ในความใสซื่อบริสุทธิ์ของเขา การแสดงออกของคุณบอยเป็นธรรมชาติมาก ๆ แม้บทจะกำหนดให้สำเนียงการพูดเป็นแบบคนไทยเชื้อสายจีน แต่นั่นไม่ได้ทำให้ดูตลกเหมือนอย่างหนังตลกไทยบางเรื่องเลย

กลับทำให้เป็นคำพูดที่ฟังแล้วใสซื่อ เปี่ยมไปด้วยความจริงใจ

โดยเฉพาะช่วงที่ต้องแสดงอารมณ์ กับประโยคสำคัญของเฮียลิ้มในเรื่องที่พูดว่า "ผู้ชายคนนี้มันมีตัวตน มันมีความรู้สึก มันรักแสงจันทร์ ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี และจะดูแลให้ดีด้วย" สำเนียงจีนของเฮียลิ้มก็ถูกบอยสื่อสารออกมาอย่างมีพลัง คนดูคงไม่อาจจะละเลยความรู้สึกของเขาไปได้ (แต่แสงจันทร์ใจแข็งและละเลย ด้วยประโยคประมาณว่า คุณดีเกินไป) และเห็นใจตัวละครตัวนี้แน่ ๆ

เอาไปเลย 10 กระโหลก สมกับรางวัลที่ได้มา

หนังแบ่งคนดูออกเป็นสองพวกด้วยกัน คือพวกที่รู้สึกว่าเรื่องราวความรักนี้ขาดความสมเหตุสมผล ทำให้ยากจะอินไปกับเรื่องราว แต่โดยรวมก็ถือว่าโอเค

กับพวกที่มีประสบการณ์ตรง หรือคนที่เฝ้าหาและรอคอยรักแท้ในชีวิตจริง คนกลุ่มนี้จะเชื่ออย่างไม่ตั้งข้อสงสัยใด ๆ และประทับใจกับหนังเรื่องนี้อย่างเต็มที่และเต็มใจ และอาจเสียน้ำตาให้กับบทสรุปของเรื่องราวในตอนท้ายได้

ยากที่จะมีพวกที่สามที่บอกว่า หนังห่วย แย่ ไม่ได้เรื่อง หรือถ้ามีก็ถือว่าใจร้ายไม่ใช่น้อย

เพราะแม้ตัวหนังเองจะมีจุดที่ตั้งใจจนเกินไป ขาดความสมเหตุสมผลอยู่บ้างเช่น
1) ง่ายไปไหมที่ตอบรับคำเชิญให้ร่วมเดินทางของคนที่เจอกันครั้งแรก (หรือเพราะเขาหล่อ)
2) ทำไมไม่ใส่รองเท้าก่อนวิ่ง เท้าเจ็บไม่ใช่เหรอ (อ๋อ เพราะถอดรองเท้าวิ่งมันได้ฟีลลิ่งกว่า)
3) บังกาโลวิวสวยขนาดนี้ เช่าเหมาปีเหรอ เห็นว่างตลอด
4) .... นึกอะไรออกอีกบ้างครับ

และมีคำพูดที่ประดิษฐ์ประดอยอยู่บ้าง

แต่หนังก็มีความดีงามในตัวอยู่ไม่ใช่น้อย เช่น

การสร้างเงื่อนไขการพลัดพรากของตัวเอก ก็ถือเป็นการเล่นตลกร้ายกับชีวิตจริง (ในหนังนะครับ) ที่น่าพึงพอใจ
การจับเอาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาสร้างเสริมเป็นประเด็นในหนังได้อย่างลงตัว แม้จะมีสิ่งที่ดูไม่สมเหตุสมผลอยู่บ้าง เช่น มิตร ชัยบัญชาตายวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ตายปุ๊บจัดงานศพปั๊บในวันนั้นเลยเหรอ (อันนี้ผมไม่รู้แฮะ ไม่มีข้อมูลและเกิดไม่ทัน)

การใช้กิมมิกในการสร้างสีสันให้กับหนัง เช่น รอยสลัก หิ่งห้อย การเปลี่ยนชื่อของนางเอก เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วการสร้างโลเกชั่นย้อนยุคแบบหนังพีเรียดก็ทำออกมาได้ดี จนผมคิดว่างานกำกับศิลป์น่าจะเป็นตัวเต็งของหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก

การถ่ายภาพก็ออกมางดงามสมกับเป็นหนังโรแมนติก

และถ้าการแสดงของนักแสดงหลักจะไม่อาจทำให้คุณพอใจได้ ผมว่าเฮียลิ้มน่าจะช่วยคุณได้นะครับ

สำหรับผมแล้วหนังถือว่ามีองค์ประกอบที่ลงตัว ทั้งบทภาพยนตร์ การถ่ายทำ การแสดง การตัดต่อ หรือเสียงประกอบ เพียงแต่เมื่อหนังเลือกจะพาอารมณ์คนดูไปถึงจุดที่ต้องการ หนังกลับดึงอารมณ์คนดูไปได้ไม่สุด ถ้าหนังจะใส่ช่วงเวลาที่ตัวละครได้ทอดอารมณ์สลับกับการดำเนินเรื่องราวไปตามเนื้อหาบ้าง อาจจะทำให้อินได้มากกว่านี้

หลายคนที่ดูอาจจะรู้สึกอึดอัดไปกับนิสัยและการกระทำของนางเอกที่ดูเหมือนโลเล เฝ้ารอคอยรักที่ดูเหมือนไม่มีตัวตน กับคนที่มีตัวตนและแสนดีอย่างเฮียลิ้มกลับไม่รักเขา

ผมอยากบอกว่าถ้าคุณรู้สึกหงุดหงิดกับนางเอก แสดงว่าหนังเรื่องนี้สร้างได้เข้าถึงคุณแล้วล่ะครับ และการแสดงของตัวละครก็ทำให้คุณเชื่อในเรื่องราวที่ผู้กำกับต้องการเสนอจริง ๆ

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง มีคนแบบนี้อยู่เยอะเลยครับ เพียงแต่เราอาจไม่เข้าใจเขา เพราะเราไม่ได้ยืนอยู่ตรงนั้นเท่านั้นเอง

ในขณะที่ลิ้มยืนอยู่บนโลก แสงจันทร์เป็นมนุษย์ที่ยืนอยู่บนดวงจันทร์ เฝ้าฝัน เฝ้ารอที่จะได้พบชายคนรัก แต่ดวงจันทร์ไม่เต็มดวงในทุกวัน ชีิวิตเธออยู่ในคืนเดือนมืดและจันทร์แรมซะเป็นส่วนใหญ่

รวี ชายหนุ่มแห่งดวงอาทิตย์ มากด้วยความคิดและอุดมการณ์ เปล่งแสงเจิดจ้า เป็นความหวังของดวงจันทร์ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เขาเลือกเดิน วงโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จึงประสานกันได้แค่ชั่วคราวในยามอัสดงและรุ่งอรุโณทัย เมื่อฟ้ากระจ่างก็จากลา

ใครคนหนึ่่งบอกว่ารักคนที่เขารักเราดีกว่า แต่ใครอีกคนหนึ่งบอกว่าจงเลือกอยู่กับคนที่เรารัก อย่าทำร้ายตัวเราและคนอื่นเลย

ความรักบางทีก็ง่ายบางทีก็ยาก แถมออกแบบก็ไม่ได้ และหลายครั้งก็โทษใครไม่ได้เลยในเรื่องความรัก

เหมือนที่บางคน (อีกเช่นกัน) บอกว่า ถ้าเลือกจะรักต้องพร้อมรับความทุกข์ เพราะสุขและทุกข์เป็นของคู่กันเหมือนสุริยันและจันทรา

ผมให้คะแนนเรื่องนี้ 7.5/10 ครับ

ขออภัยที่บทความนี้เวิ่นเว้อ และ (เหมือนจะ) ปรัชญาไปหน่อย บรรยากาศหลังดูหนังมันพาไป


วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

ไม้บรรทัดของยมทูต : ความตายก็สร้างความอบอุ่นได้ แม้วันที่ฝนพรำ


รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ



หนังสือเล่มนี้ปกติถือว่าไม่ใช่แนวที่จะหามาอ่าน ถ้าไม่มีคนแนะนำจริง ๆ
เพราะปกติจะหมดค่าเสียหายไปกับแนวฆ่ากันตายซะมากกว่า (55)

พอดีรุ่นพี่ที่ JBook แนะนำมา เลยได้หยิบมาอ่านในวันว่าง ๆ สบาย ๆ

ด้วยความที่ไม่คาดหวังอะไรมาก เมื่ออ่านจบจึงประทับใจกับเล่มนี้มากเป็นพิเศษ
เพราะไม่รู้ว่านานเท่าไหร่แล้วที่ได้อ่านหนังสือที่ให้บรรยากาศอบอุ่นแบบนี้

ซึ่งค้านกับประเด็นหลักและโลเกชั่นหลักในหนังสือเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ ยมทูต ความตาย (แน่นอนมีคนตาย) และวันฝนพรำ

ไม้บรรทัดของยมทูต เป็นผลงานของนักเขียนนามว่า อิซากะ โคทาโร เฉพาะเล่มนี้เคยคว้ารางวัลเรื่องสั้นของสมาคมนักเขียนนิยายสืบสวนของญี่ปุ่น

ขอคัดลอกคำโปรยจากหน้าปก และหลังปกมาให้อ่านเพื่อทราบเนื้อเรื่องคร่าวก่อนเลยแล้วกันนะครับ

(บนหน้าปก)
เรื่องราวของยมทูตหนุ่ม
ผู้ปรากฏตัวในวันฝนพรำ
เพื่อชี้ชะตาชีวิตมนุษย์
ผลงานแนวแฟนตาซีพร้อมไออุ่น
ที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

อ้อ เวอร์ชั่นภาพยนตร์ได้ ทาเคชิ คาเนชิโร่มารับบทนี้ หลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี

(บนปกหลัง)
ผมชื่อชิบะ ถูกส่งลงมายังโลกเพื่อประเมินความตายของมนุษย์
แค่เข้าตีสนิทเป้าหมาย พบปะพูดคุยเล็กน้อยเพื่อเก็บข้อมูล
ก่อนตัดสินใจ "รับไว้" หรือ "ปล่อย" ภายในเวลาเจ็ดวัน
งานแสนง่ายดาย มีอิสระ แถมเหลือเวลาให้ยืนฟังเพลงในร้านซีดีโปรด
ส่วนเรื่องความตายของมนุษย์
ใครจะอยู่หรือสิ้นใจไม่มีความหมายสักนิด
เพราะสิ่งที่ยมทูตอย่างพวกผมทำ
...เป็นแค่หน้าที่

ครับ หนังสือแบ่งเรื่องราวเป็นเรื่องสั้น 6 ตอน แต่ละตอนแยกจากกัน แต่อาจมีบางตอนที่มีตัวละครที่ครอสกันอยู่บ้างเล็กน้อย
ตัวเอกของเรื่องคือยมทูต ผู้มีหน้าที่ลงมาประเมินมนุษย์เป้าหมายว่าจะให้ตายตามที่กำหนดไว้ หรือจะปล่อยให้รอด โดยดุลยพินิจทั้งหมดอยู่กับตัวยมทูตเอง

การตายที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการตายประเภทที่ไม่ได้เกิดจากเจ็บป่วย สิ้นอายุขัย หรือเจตนาฆ่าตัวตาย แต่เกิดจากอุบัติเหตุหรือถูกฆ่า นี่เป็นเงื่อนไขหนึ่ง ที่หนังสือนำมาเล่นเรื่องราวให้มีความหลากหลายได้
และภายในเวลา 7 วันที่ยมทูตทำหน้าที่ประเมินนั้น เป้าหมายจะไม่ตายอย่างแน่นอน ถ้าลงความเห็นว่า "รับไว้" ก็จะตายในวันที่ 8 หรือถ้า "ปล่อย" ก็รอดไป จบเจ็ดวันก็ถือว่าเสร็จสิ้นหน้าที่

ชิบะคือ ชื่อที่ยมทูตใช้เรียกตัวเองในเรื่อง ทุก ๆ ครั้งที่ปฏิบัติงาน ชิบะจะใช้รูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายได้ง่าย บางครั้งจึงเป็นหนุ่มหล่อ หรือบางครั้งก็เป็นวัยกลางคน แตกต่างกันไป

มียมทูตที่ทำหน้าที่นี้หลายตน ในเรื่องนั้น บางครั้งบางคราว ก็ได้พบกันเองโดยบังเอิญในสถานที่ทั่วไป หรือพบกันเพราะเป้าหมายของตนนั้นพัวพันกับเป้าหมายอีกตนหนึ่ง

ในเรื่องทำให้เราได้เห็นว่ายมทูตเป็นพวกไม่อินังขังขอบกับความตายของคน ไม่ใช่ว่าเป็นพวกซาดิสท์ แต่สำหรับพวกเขาเหล่านั้นแล้วความตายไม่ได้มีความหมายอะไร งานเหล่านี้จึงถือเป็นงานน่าเบื่อสำหรับพวกเขา

แต่ความสุขของพวกเขาอย่างหนึ่งคือการได้ฟังเพลง หลายครั้งที่ยมทูตด้วยกันเองจะเจอกัน ตามร้านซีดี โดยเฉพาะโซนที่มีบริการทดลองฟังเพลง

เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสร้างขึ้่นเพื่อให้แคแรคเตอร์ของเรื่องมีความขัดแย้งในตัวเอง เพื่อเสริมทำใหตัวละครมีมิติมากขึ้น

การเล่าเรื่องจะเล่าผ่านมุมมองของตัวชิบะ โดยการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง (คือ ผม) ทำให้เรื่องราวยิ่งมีสเน่ห์เพิ่มขึ้น เพราะมุมมองของยมทูตนั้นมองโลกและชีวิตมนุษย์แตกต่างจากคนธรรมดา เขามองทุกอย่างอย่างซื่อตรง หลายครั้งเขาก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่มนุษย์ทำ เหมือนเด็กที่มองโลกของผู้ใหญ่ ทำให้ผู้อ่านต้องหลงรักตัวละครตัวนี้

เรื่องราวจะทำให้เราได้เห็นมุมมองเรื่องความตายในอีกอารมณ์หนึ่งผ่านมุมมองของยมทูตผู้ไม่เป็นเดือดเป็นร้อนอะไร ทำหน้าที่ของตัวเองไป เรื่อย ๆ แต่จากการทำงานในช่วงเวลา 7 วัน เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ของมนุษย์ และเห็นวิถีชีวิต แนวคิดในการตัดสินใจตัวละคร ซึ่งนั่นสร้างความสนใจให้กับตัวเขา มากกว่าประเด็นที่ว่าจะ "รับไว้" หรือ "ปล่อย" ไป

ถ้าอิคิงามิ คือแง่มุมของความตายแบบดิ้นรนกระเสือกกระสน ไขว่คว้าโอกาสครั้งสุดท้ายของชีวิต หรือสะสางบางเรื่อง และสร้างความรู้สึกที่บางครั้งก็รันทด แต่งดงาม บางครั้งก็หดหู่และเศร้าสร้อย

ไม้บรรทัดของยมทูต ให้อารมณ์ที่แตกต่างไป ในวันที่ฝนตกพรำ (ทุกครั้งที่ชิบะมาปฏิบัติงานจะมีแต่วันที่ฝนตกอยู่เสมอ หรือไม่ก็หิมะ ชิบะจะแทบไม่เคยเห็นวันที่ฟ้าใสเลย ซึ่งเป็นความบังเอิญที่เป็นกิมมิกของเรื่อง) คนหนึ่งคนไม่ทราบว่าตัวเองอาจกำลังจะตายใน 7 วัน แต่ละคนมีวิถีชีวิตให้ดำเนินไปตามครรลองของตัวเอง ชิบะเป็นเพียงผู้สังเกตุการณ์ และเป็นตัวแทนถ่ายทอดให้เราได้เห็นแง่มุมของชีวิตแต่ละคน

ซึ่งอย่างที่บอกให้บรรยากาศที่อบอุ่นแก่ผู้อ่าน เหมือนความตายของตัวละครเป็นเพียงแค่ฉากหนึ่งในชีวิตเท่านั้น แม้อาจจะมีบางตัวละครที่เรารู้สึกเสียดายไปกับเขาบ้่าง ว่าไม่น่าเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเลยก็ตาม

เรื่องราวในเรื่องทั้ง 6 ตอนนั้น ผู้เขียนมีประเด็น ลูกเล่นและกลวิธีที่แตกต่างกันไป มีจุดหักมุมเล็กน้อยเกิดขึ้นในบางเรื่อง ทำให้เนื้อเรื่องมีความหลากหลาย ไม่เป็นสูตรรสำเร็จจำเจ

สิ่งสำคัญของเรื่องอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวละครจะตายหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าชีวิตช่วงสุดท้ายของเขาเป็นอย่างไร สิ่งที่เป็นความตั้งใจของเขานั้นสำเร็จไหม (นั่นอยู่บนเงื่อนไขที่แต่ละคนไม่ทราบว่าตัวเองต้องตาย)

ตอนที่ 1 ความเที่ยงตรงของยมทูตนั้ัน เป็นตอนแรกที่เปิดตัวและแนะนำให้เรารู้จักชิบะ ยมทูตตัวเอกของเรา เรื่องราวมาในแนวดราม่าที่มีจุดหักมุมเล็กน้อย เราจะได้ติดตามชีวิตของคนธรรมดาคนหนึ่งที่อาจค้นพบเส้นทางชีวิตที่จะเปลี่ยนชีิวิตของตัวเธอไปตลอดกาล ผ่านเรื่องราวแปลกประหลาดไม่คาดคิด

ตอนที่ 2 ยมทูตกับฟุจิตะ ตอนนี้จะมีกิมมิกแทรกเข้ามาคือกฏเกณฑ์การตาย ซึ่งมีผลต่อการดำเนินเรื่องที่ทำให้เกิดการเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ได้ในช่วงท้าย เราจะได้เห็นถึงชีวิตอีกแง่มุมหนึ่งของคนประเภทหนึ่งซึ่งเราอาจไม่เคยมีโอกาสสัมผัสชีวิตของพวกเขาเลย คือ ยากูซ่าที่ชื่่อฟูจิตะ มนุษย์ที่ดำรงชีวิตด้วยการบริโภคศักดิ์ศรีเป็นอาหาร

ตอนที่ 3 ความตายกลางพายุหิมะ สำหรับตอนนี้มาในตอนสไตล์อกาธา คริสตี้ เป็นเหตุฆาตกรรมในสถานที่ปิดตาย ซึ่งคนชอบแนวสืบสวนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะสนุกกับคดีสืบสวนด้วยฝีมือของยมทูต เพราะมีตัวแปรที่ไม่เคยปรากฏบนโลกนิยายแนวสืบสวนที่ไหนมาก่อนเลย คือ ยมทูต นั่นเอง

ตอนที่ 4 ความรักกับยมทูต แน่นอนยมทูตไม่มีความรัก คงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับเขาในการติดตามชีวิตช่วงสุดท้ายของคนที่มีความรัก เรื่องนี้มาในอีกสไตล์ คือมีอารมณ์ Romantic Drama อ่านแล้วซาบซึ้งกินใจ

ตอนที่ 5 บนเส้นทางความตาย เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มที่เข้าใจแม่ตัวเองผิด ทำให้พลั้งมือฆ่าคนตาย และอยู่ในระหว่างหลบหนี ซึ่งชิบะก็จัดการให้ตัวเองเข้ามาอยู่ในสถานการณ์นี้จนได้ หนังสือดำเนินเรื่องแนว Road trip คือตัวละครที่ได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตในประเด็นที่เขาขาดอยู่ ผ่านการเดินทาง แต่เพียงว่านี่อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิต

ตอนที่ 6 เป็นตอนปิดท้าย ราบเรียบแต่สวยงาม มีกิมมิกในเรื่องที่อ่านแล้วทำให้อมยิ้ม และประทับใจ อ่านตอนนี้จบทำให้ผมนึกถึงคำพูดของดัมเบิลดอร์ใน Harry Potter ที่ว่า "สำหรับจิตใจที่จัดระเบียบดีแล้ว ความตายก็เป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งเท่านั้น"

ในโลกของภาพยนตร์และวรรณกรรมนั้น เราจะพบว่าเรื่องราวเกี่ยวกับยมทูตและความตายถูกนำมาใช้ในการสรรค์สร้างเรื่องราวที่แตกต่างกัน

อย่างที่เรารู้จักกันดี ก็เช่น Meet Joe Black หรืออย่างการ์ตูนเรื่อง Death Note เป็นต้น
แต่อย่างที่บอก หนังสือเล่มนี้ให้บรรยากาศความรู้สึกของตายที่แตกต่างไป ความตายก็สร้างความรู้สึกอบอุ่นได้ แม้ในวันที่ฝนพรำ และยมทูตอยู่กับเรา

เป็นหนังสือดีเกินคาดเล่มหนึ่ง เหมาะจะอ่านในวันเบา ๆ หรือจะวันฝนพรำก็ได้บรรยากาศ (วันหิมะตก ถ้าอยู่ประเทศไทยคงเป็นเรื่องยาก)

อ่านจบแล้วก็ต้องบอกตัวเองว่าชีวิตเราอาจสั้นกว่าที่เราคิด คำพูดยอดฮิตประจำวันนี้คือ "จงทำวันนี้ให้ดีที่สุด"
ผมให้คะแนนเรื่องนี้ 8.5/10 ครับ

เกร็ดความรู้อย่างหนึ่ง คือ ในเรื่องจะบอกให้เราทราบว่ายมทูตส่วนใหญ่จะชอบฟังเพลง ส่วนพวกทูตสวรรค์ (จำไม่ได้ว่าใช้คำว่าอะไร) จะชอบอยู่กันตามห้องสมุด

อ้างอิงจากความเชื่อของคริสเตียน ลูซิเฟอร์ คือ 1 ใน 3 ของทูตสวรรค์ที่ใหญ่ที่สุดบนนสวรรค์ (ที่เหลือคือ กาเบรียล ทูตสวรรค์ผู้มีหน้าที่นำข่าวสาร และ มิคาเอล ทูตสวรรค์ผู้มีหน้าที่ทำสงคราม) ได้กบฏต่อพระเจ้าและถูกขับออกจากสวรรค์กลายร่างมาเป็นซาตาน และมีลูกน้องจำนวน 1 ใน 3 ติดตามมา

โดยลูซิเฟอร์ก่อนหน้านั้น เป็นทูตสวรรค์แห่งเสียงเพลง รับหน้าที่นำนมัสการบนสวรรค์ อาจเป็นเกร็ดเล็กน้อยที่ผู้เขียน นำมาปรับมุมมองใหม่และสร้างแคแรกเตอร์ให้ชอบเสียงเพลงก็เป็นได้

ส่วนทูตสวรรค์ (Angel) หรือที่บางทีคนไทยแปลว่าเทวดานั้น ไม่แน่ใจว่าผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนต์เรื่อง City of Angel ที่ Nicolas Cage เล่นเป็นทูตสวรรค์หรือเปล่า เพราะเรื่องนั้นทูตสวรรค์ก็ชอบอ่านหนังสือ อยู่ตามห้องสมุดเหมือนกัน

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

Funny Games เกมส์เกรียนขำ ๆ ที่หัวเราะไม่ออก


รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ


ถ้า Lost คือภาพยนตร์ (ซีรี่ย์) ที่แหกกฏของความเป็นหนังสไตล์ผจญภัย ประเภทเครื่องบินตก หรือเรือล่ม ตัวละครติดเกาะ

(เพราะคุณคาดหวังจะเจออะไรในเรื่องคนติดเกาะล่ะ ต้นไม้กินคน คนป่า สัตว์ป่าดุร้าย เสือ สิงห์กระทิงแรด อนาคอนดา ไดโนเสาร์ หรือปูยักษ์ พวกนั้นแหละที่ไม่โผล่มาให้เห็นเลยซักอย่าง)

Funny Games ผลงานของผู้กำกับ Michael Haneke ก็จะมอบความรู้สึกแบบนั้นให้กับคุณ

Haneke รีเมกหนังของตัวเองซ้ำเป็นเวอร์ชั่นพูดภาษาอังกฤษ (จากเวอร์ชั่นเดิมหนังพูดเยอรมัน) เพื่อให้คนอเมริกันได้ดูหนังเขาสบายหูขึ้น และเขาถึงคนในวงกว้าง เรียกว่าขอบริการหน่อยเถอะ ให้คนในอเมริกา ซึ่งเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยหนังสูตรสำเร็จได้ดู (อารมณ์ประมาณอยากให้ดู)

เวอร์ชั่นนี้นำแสดงโดย Tim Roth และ Naomi Watts ซึ่งแสดงเป็นพ่อและแม่ ซึ่งมีลูกชายอีก 1 คน รับบทโดย Devon Gearheart ส่วนอีกสองคนนั้นช่างมันขอเรียกมันว่า ไอ้ผอมกับไอ้อ้วนแล้วกัน รับบทโดย Michael Pitt และ Brady Corbet


หนังมีเหตุการณ์หลัก ๆ คือ
1) ครอบครัวนี้มาเที่ยวบ้านพักตากอากาศ
2) ไอ้อ้วนแวะมายืมไข่จากนางเอก
3) หลังจากนั้นเกมส์ก็เริ่ม
4) แล้วก็จบเกมส์

เป็นหนังที่ต่อให้ผมสปอยล์หมดทั้งเรื่อง ก็ไม่อาจเล่าเรื่องราวให้ถึงอารมณ์ได้แม้ซักเศษเสี้ยว

Haneke กำกับหนังเรื่องราวด้วยความมั่นใจ ในทิศทางที่ถูกวางไว้แล้ว ไม่มีซักช่วงเวลาใดในหนังที่ทำให้เห็นว่าหนังจะไขว้เขว ใจอ่อน หรือเริ่มโลเลแต่อย่างใด หนังเดินหน้าไปในทิศทางที่ผกก.วางไว้ ซึ่งเป็นทิศทางที่ตรงกันข้ามกับความคาดหวังของเรา

คำศัพท์อธิบายความรู้สึกที่คุณจะได้เรียนรู้จากหนังเรื่องนี้ จะมีดังต่อไปนี้ อึดอัด กวนโมโห เครียด กดดัน หงุดหงิด หดหู่ อะไรวะ เอาซะทีดิ เออ ใช่ นั่นแหละ สะใจ เฮ้ย ไอ้เ..ย ทำงี้ได้ไง แล้วก็อึดอัด โมโห แล้วก็มีหวัง แล้วก็สิ้นหวัง กัดเล็บ

แล้วก็จบลงด้วยความรู้สึกอยากมีความสามารถพิเศษในการแหย่เท้าเข้าไปในทีวีได้
แถมท้ายด้วยอาการจิตตก นอนไม่หลับหลังจากดูจบ

นี่ถือเป็นความบันเทิงชนิดนี้ ที่หนังเรื่องนี้จะมอบให้คุณอย่างแสนสาหัส และเจ็บป่วย

ผมอยากจะจินตนาการเอาเองว่า Michael Haneke น่าจะเคยนั่งดูหนังสยองขวัญ โดยเฉพาะแนวฆาตกรโรคจิตไล่ฆ่าประชาชนพลเรือนมาต่อนัก แล้วอยู่มาวันนี้เขาก็ลุกขึ้นด้วยความรู้สึกว่า เซ็งเป็ดกับหนังฮอลลีวู้ดแนวไล่ฆ่าแล้ว และจะขอมอบประสบการณ์ความบันเทิงในครอบครัวแบบใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจ พอกันที

นี่จินตนการเอานะครับ

หนังปฏิเสธองค์ประกอบแทบทุกอย่างของหนังสยองขวัญสไตล์ฮอลลีวู้ดขนานแท้
ไม่มีดนตรีสร้างอารมณ์ ไม่มีฉากตกใจขวัญผวา

มีคนตาย ใช่ แต่คุณจะไม่ได้เห็นฉากฆ่ากันจะจะ แม้แต่บาดแผลหรือศพก็แทบจะไม่เห็น อะไรที่คุณหวังจะเห็น Haneke บอกขอรับหน้าที่ ทำลายมันทิ้งเอง

ในเรื่องคุณจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำร้ายจิตใจคนดูที่สุดในโลกภาพยนต์ คือ รีโมททีวี

หนังทั้งเรื่องมีฉากวนไปวนมาไม่กี่ฉาก ตัวละครใส่เสื้อผ้าสะอาดสะอ้าน บ้านช่องเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สามารถหาซอกมุมใด ๆ ในเรื่องที่จะชวนให้คิดว่าจะมีอะไรโผล่มาได้เลย

ดำเนินเรื่องหลัก ๆ กัน 5 คน เต็มไปด้วยไดอะล็อกซ์พูด ทุก ๆ ตัวละครให้การแสดงที่ถึงบทบาทเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะไอ้ผอมและอ้วน ที่ขึ้นทำเนียบตัวละครยอดฮิตในโลกของหนังสยองขวัญไปแล้ว

หนังทั้งเรื่อง เสียงกรีดร้องมีไหม ไม่มี

เป็นหนังที่คนทำบ้าระห่ำสุด ๆ กบฏสุด ๆ ใจร้าย ไม่ปราณีต่อคนดู แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นสุดยอดในด้านนี้จริง ๆ

เมื่อคุณดูหนังเรื่องนี้จบ คุณอาจจิตตกได้เวลามีใครมายืมไข่ไก่ที่บ้านคุณ

9/10 คะแนน สำหรับเรื่องนี้ ขึ้นหิ้งไปเลยครับ
สิ่งที่จรรโลงใจอย่างเดียวของหนังเรื่องนี้ก็คือการมี Naomi Watts ร่วมแสดง


ตรงนี้คือสปอยล์นะครับ ใครยังไม่ได้ดูอย่าเพิ่งอ่านนะครับ


หนังมีความตั้งใจอยากจะเล่นกับอารมณ์คนดูแบบที่ดูหนังสยองขวัญทั่วไป คือเอาใจช่วยตัวละครและหวังจะเห็นว่าตอนท้ายตัวเอกลุกขึ้นมาแก้แค้นเอาคืนผู้ร้าย แต่สุดท้ายหนังก็หักหลังคนดู ดับความหวังทิ้ง ด้วยฉากรีโมตนั่นเอง

เหมือนต้องการจะบอกว่าอยากดูนักใช่ไหม อ่ะ จัดให้นิดนึง แต่อย่าดีกว่า แล้วก็ย้อนหนังตัวเองกลับ แบบทำร้ายจิตใจคนดู

ตอนต้นเรื่องจะสังเกตุเห็นมีดเล่มหนึ่งถูกวางทิ้งไว้ในเรือใบของพระเอก เหมือนจะทิ้งไว้บอกว่าตอนหลังอาจได้นำมาใช้ พอตอนท้ายนางเอกโดนจับขึ้นเรือ ก็เอาอีกแล้วหนังให้ความหวังคนดูว่านางเอกต้องรอดแน่เลย ใช้มีดตัดเชือกหลุดมาแล้วฆ่าเจ้าพวกนั้นให้หมด

แล้วหนังก็ทำร้ายจิตใจคนดูซ้ำอีก นางเอกถูกผลักตกน้ำแบบไม่มีค่าให้ไอ้ผอมกับไอ้อ้วนต้องเสียใจแต่อย่างใด

พอถึงตอนท้ายหนังถึงทำให้เรากระจ่างว่านี่เป็น funny game ของเจ้าพวกนี้ ตอนเช้าวันก่อนที่ครอบครัวนางเอกเดินทางมาถึงแล้วทักทายครอบครัวบ้านอื่นแล้วเห็นเจ้าพวกนี้อยู่ที่บ้านนั้นเหมือนสนิทสนม ก็คือ เหยื่อก่อนหน้านั้น ที่เจ้าพวกนี้ใช้สร้างภาพว่ามาด้วยกัน แล้วเอามาหลอกนางเอกตอนต้นเรื่อง พอวันต่อมาก็ใช้ครอบครัวนางเอกหลอกบ้านอื่นอีก เพื่อเตรียมเป้าหมายต่อไป

ซึ่งไม่รู้ว่าเจ้าพวกนี้ฆ่าไปกี่ครอบครัวแล้วเหมือนกัน

และสังเกตุว่าหนังหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราคิดว่าจะเห็น หรือสิ่งที่เราคิดว่าจะไม่เห็นเกือบทั้งเรื่อง เช่น นางเอกในเรื่องก็ไม่ถูกข่มขืน แค่ถูกบังคับถอดเสื้อผ้า หมากับเด็กตายก่อนเลย ทำให้คนดูช็อก และฉากที่เด็กถูกฆ่า เราก็ไม่เห็นศพ ไม่เห็นฉากถูกยิงจะ ๆ ตัวพ่อตอนถูกแทงเราก็ไม่เห็นชัด ๆ หนังทำให้ภาพตกขอบไป นางเอกถูกฆ่าก็เพียงถูกผลักตกเรือเท่านั้น

หนังไม่มีฉากฆ่า ทรมาน รุนแรงเลย แต่รุนแรงในเรื่องของบรรยากาศแทน

นี่คือความสุดยอดของหนังครับ

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

ความจำสั้นแต่รักฉันยาว : ดูไปยิ้มไป อิ่มใจในความรัก แบบจำ ๆ ลืม ๆ



รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ



ช่วงนี้ไล่ดูหนังที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ทีละเรื่อง

สารภาพว่าตอนที่ดูหนังเรื่องนี้นั้น ไม่ได้รู้เรื่องย่อ
ไม่ได้อ่านรีวิวจากที่ไหน รู้แค่ว่าใครแสดง และใครสร้างใครกำกับเท่านั้น
อ้อ แล้วก็รู้ว่าในโปสเตอร์มีคำโปรยว่า "ใคร ๆ ก็ว่าปลาทองความจำสั้นแล้วรักของเราจะยาวกว่าไหม"

แต่อีกประโยคหนึ่งที่ว่า "บางคนใช้เวลาทุกวินาทีเพื่อลืมรักครั้งแรก แต่บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อลืมรักครั้งสุดท้าย" นั้่นผมไม่เห็น



ทำให้ผมดูหนังเรื่องนี้ แบบคาดเดาไปเรื่อยตลอดเวลาว่าใครในเรื่องนี้กันแน่ที่เป็นเจ้าของประโยคที่เป็นชื่อหนัีง คือ "ความจำสั้นแต่รักฉันยาว"
ซึ่งนั่นทำให้ผมดูหนังเรื่องนี้อย่างสนุกสนานมากขึ้น

หนังดำเนินเรื่อง ด้วยเรื่องราวความรักของคน 2 คู่ คือ



คู่ของเก่ง (รับบทโดยคุณเป้ อารักษ์) สัตวแพทย์หนุ่ม
กับฝ้ายเจ้าของธุรกิจรับจัดสวน (รับบทโดยคุณญารินดา บุนนาค)
ซึ่งรักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ พ่วงด้วยสุนัขอีกหนึ่งตัว ซึ่งเป็นตัวเชื่อมให้คนทั้งสองพบกัน

ทั้งสองคนนี้ต่างเป็นตัวแทนของความจำสั้นแต่รักฉันยาวกันคนละแง่มุม

ซึ่งสะท้อนความจริงของชีวิตรักคนเรา ที่อาจโดนใจใครหลาย ๆ คน ที่หลายครั้งเราควรจะลืมเรื่องที่ควรลืมไปได้แล้ว แต่กลับตัดใจไม่ได้ ชีวิตไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้

การแสดงของคุณเป้ในบทหนุ่มอารมณ์ดี นิสัยกวน ๆ ปากเสียบ้าง แต่มีน้ำใจนั้นให้การแสดงที่ดี น่าพอใจ อาจมีช่วงปล่อยมุกบางมุกนั้นที่แป็กไปบ้าง เพราะผมรู้สึกว่าจังหวะการปล่อยมันยังไม่ลงตัวเท่าไหร่

แต่สำหรับคุณญารินดานั้นตอนที่ดูผมพูดเลยว่า "นางเอกแสดงโคตรดี"

บทของคุณญารินดานั้นเป็นผู้หญิงที่ไม่เรื่องมาก มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต แต่ยามมีปัญหาเธอก็กล้ำกลืนและฝืนยิ้มไป

คนดูจะรู้สึกว่าบางครั้งก็ดูเหมือนเธอจะรับมือกับเรื่องที่ผ่านมาได้ แต่บางวินาทีเราก็จะเห็นว่าเธอยังไม่สามารถตัดใจลืมเรื่องราวในอดีตได้ จนถึงจุดหนึ่งที่เธอไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกภายในของตัวเองได้แล้ว จนตัดสินใจระบายมันออกมา (โดยได้สารตัวนำยิ่งยวดชนิดหนึ่งช่วยกระตุ้นเร้า)

เราจึงได้เห็นรับทราบความรู้สึกจริง ๆ ของผู้หญิงคนนี้

นอกจากนี้แล้วคุณญารินดายังทำให้ฝ้ายเป็นผู้หญิงที่ดูดีมีสเน่ห์ น่าคบหาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจังหวะการพูดและรอยยิ้ม ทำให้คนที่อยู่ใกล้เธอสามารถหลงรักเธอได้



(ขณะที่ผมดูเรื่องนี้จบ นอกจากรถไฟฟ้ามาหานะเธอแล้วผมยังไม่ได้ดูเรื่องอื่น ๆ
ที่มีคู่แข่งของเธอเลยยังไม่สามารถเปรียบเทียบได้แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างคุณคริส หอวัง กับคุณญารินดา ผมชอบรายหลังมากกว่านะ)

อีกคู่หนึ่งนั้นเป็นเรื่องราวของลุงจำรัส (รับบทโดยคุณกฤณ เศรษฐดำรงค์) เจ้าของสวนทุเรียนที่ชุมพร ที่ยอมขับรถมาเรียนคอมพิวเตอร์ที่กรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์ ด้วยเหตุผลว่า "คนมันมีความรัก" กับป้าสมพิศ (รับบทโดยคุณศันสนีย์ วัฒนานุกูล) ผู้มีหัวใจวัยรุ่น และไฮเทคไม่ใช่เล่น



ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของหนังสำหรับผมนั้น คือ ช่วงเวลาที่มีคนคู่นี้ปรากฏอยู่บนจอ

ทั้งสองคนให้การแสดงที่ถึงคุณภาพเอามาก ๆ (สำหรับผม) ซึ่งผมก็คิดว่าหลายคนที่ดูเรื่องนี้ก็น่าจะรู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน (รวมทั้งคณะกรรมการจากหลาย ๆ เวทีด้วย)

ถ้าคุณเป้ เล่นเรื่องนี้เป็นหนุ่มกวน ๆ ได้น่ารักขนาดไหน คุณกฤณก็เล่นเป็นหนุ่ม (เหลือน้อย) กวน ๆ ได้น่ารักกว่านั้น ซัก... 3-4 เท่าแล้วกัน

จังหวะการปล่อยมุกของคุณกฤณในเรื่องก็ลงตัวมาก ๆ โดยเฉพาะฉากใต้ต้นชมพู่มะเมี่ยวนั้น เป็นเสียงหัวเราะที่ดังที่สุดที่เกิดขึ้นระหว่างดูหนังของผม และหลังจากนั้นก็ตามด้วยความซึ้งประทับใจที่สุดในหนัง แบบไม่รู้สึกกระอักกระอ่วนหรือเลี่ยนแต่อย่างใด



ในทางเดียวกันคุณศันสนีย์ก็แสดงเป็นป้าพิศได้น่ารักมาก เผลอ ๆ จะน่ารักกว่านางเอกด้วยซ้ำ ไม่แปลกใจที่จะมีหนุ่ม (เหลือน้อย) ซักคนยอมขับรถหลายร้อยกิโลมาหา

ไม่ใช่้เพื่อมาตามจีบ แต่เพื่อให้ตัวเองได้มีช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีิวิตต่างหาก

การแสดงของป้าพิศที่ต้องแสดงเป็นคนที่มีความอึดอัดอยู่ระหว่้างรักแท้ครั้งใหม่ได้พบในวัยที่อยู่ในช่วงท้าย ๆ ของชีิวิต กับลูก ๆ ที่ไม่มั่นใจว่าเขาจะรับได้หรือไม่

จนเมื่อเรื่องราวมาถึงจุดต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเดินไปทางใดนั้น แสดงได้ดีจริง ๆ สมบทบาท ให้เราคนดูเห็นใจและเอาใจช่วยได้อย่างเต็มี่

จนสุดท้ายตัวละครทุกตัวก็เลือกที่จะทำเพื่อคนที่ตัวเองรัก อย่างไม่เห็นแก่ตัว ยอมรับในวิถีชีิวิตของตัวเอง และก้าวต่อไปข้างหน้า



บทหนังมีเรื่องราวที่แข็งแรง ตัวละครบางตัวก็จำเรื่องที่ไม่ควรจำ
แต่ก็ลืมบางเรื่องไป แล้วค่อยจำได้ภายหลัง
บางคนก็แกล้งลืม แต่แท้จริงแล้วจำได้ไม่เคยเลือน
บางคนก็เลือกที่จดจำให้นา่นที่สุดเท่าที่จะนานได้ แม้ฝ่ายหนึ่งจะไม่อาจจำได้นานเท่าอีกฝ่ายหนึ่ง




หนังยังมีกิมมิกสอดแทรกตลอดทั้งเรื่องที่ทำให้เราประทับใจและถูกนำมาใช้
อธิบายแง่มุมตามชื่อหนังได้ในหลายตอน เช่น
ตอนที่ลุงจำรัสปูที่นอนให้ป้าพิศ , เรื่องของชมพู่มะเมี่ยว ,
หรือฉากใต้ต้นชมพู่ , MSN , ซีดีเพลง

เอ๊ะ มีแต่เรื่องของลุงจำรัสกับป้าพิศซะส่วนใหญ่นี่นา
เห็นไหมล่ะว่าใครกันแน่เป็นพระเอก นางเอกของเรื่องนี้

ลืมให้คะแนนเรื่องนี้ กลับมาให้คะแนน
ผมให้ 8/10 คะแนน หนังสร้างความประทับให้กับผมและอีกหลายคนได้ไม่ยากเลยครับ



วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย : เมื่อเบื้องหน้าคือความตาย แล้วความหมายของชีวิตคืออะไร (movie version)



รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ

อิคิงามิ (Ikigami) สาส์นสั่งตาย เป็นหนังอีกเรื่องที่ได้สร้างจากการ์ตูนชื่อดังในชื่อเดียวกัน (ผมได้อ่านถึงเล่ม 5 ชอบสุด ๆ)

ทราบมาว่าการ์ตูนหรือที่เรา ๆ ท่าน ๆ ชาวเฉลิมไทยเรียกว่ามังงะ ได้รับความนิยมมากมียอดขายทะลุล้านเล่ม และมีบริษัทผลิตหนังถึง 53 บริษัทเสนอแย่งกันผลิตหนังจากการ์ตูนเรื่องนี้ แต่สุดท้าย TBS ก็ได้ไป


อิคิงามิเป็นเรื่องราวในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกกฏหมายที่ชื่อว่า "กฏหมายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ" โดยเด็กทุกคนเมื่อเข้าสู่ชั้น ป.1 จะต้องถูกฉีดวัคซีนที่มีนาโนแคปซูลฝังลงไว้ในตัวทุกคน และเมื่อถึงอายุ 18-24 ปี แคปซูลจะแตกตัวออกที่เส้นเลือดใกล้หัวใจตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและทำให้คนนั้นตายในทันที โดยมีอัตราส่วนที่ 1 ในพันคน

ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะตายหรือไม่ หรือตายเมื่อไหร่ มีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่ทราบ

โดยกฏหมายนี้บัญญัติขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าการมีชีวิตอยู่ ซึ่งถือเป็นรากฐานของประเทศ (ตามที่กล่าวอ้างในเรื่อง) เพื่อคนทุกคนจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เพราะไม่รู้ว่าวันเวลาของตัวเองจะหมดลงเมื่อไหร่

ฟูจิโมโตะ พระเอกของเรื่อง (รับบทโดยโชดะ มัตสึดะ) เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มาทำงานในตำแหน่งผู้ส่งสาส์น อิคิงามิ


อิคิงามิ เป็นใบแจ้งมรณกรรมล่วงหน้า โดยทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลจะแจ้งให้ผู้ที่ต้องเสียชีวิต (หรือสละชีพเพื่อชาติ) ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้สะสางเรื่องราวของตัวเอง ได้ร่ำลาคนที่ตัวเองรัก ได้ทำสิ่งที่ยังไม่ได้ทำที่ติดค้างอยู่ โดยรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก อาหารการกินทุกอย่าง เพียงแค่โชว์ใบอิคิงามิ ก็จะได้รับการยกเว้นทันที และครอบครัวของผู้ตายก็จะได้เงินชดเชยจากรัฐบาลในฐานะผู้ที่สละชีพเพื่อชาติ เพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ

แต่ถ้าเขาคนนั้นทำสิ่งผิดกฏหมายต่าง ๆ เช่น ฆ่าคนตาย ไปขโมยของ วางเพลิง ข่มขืน ครอบครัวของผู้ตายก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยและต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

นี่จึงเป็นที่มาของคำถามหลักของหนังว่า "คุณจะทำอะไร เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องตายในเวลา 24 ชม."

หนัง (หรือการ์ตูน) เลือกที่จะมองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สีชมพู ปฏิกริยาของตัวละครที่ได้รับอิคิงามิจึงมีแตกต่างกัน บางคนเคยเป็นคนเลวก็กลับใจ บางคนก็ระเบิดความโกรธแค้นที่มีในชีวิตออกมา บางคนกลับไปคืนดีกับคนที่ตัวเองบาดหมาง บางคนเลือกที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่น หรือทำเพื่อคนที่เรารัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อนเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เป็นเรื่องจริงที่คนเรามักละเลยเรื่องที่เราตั้งใจจะทำ หรือ เลือกจะที่จะไม่ทำบางสิ่ง เพราะเหตุผลว่าไว้ค่อยทำทีหลัง ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้อนาคตเลยด้วยซ้ำว่าเราจะมีชีวิตถึงเมื่อไหร่

ถ้าผมจำไม่ผิด ปธน.จอร์จ วอชิงตัน (ถ้าผิดก็ขออภัย) เคยเล่าว่า ตอนเด็ก (หรือเขากับคุณพ่อ) เขาเดินทางข้ามภูเขาในวันที่ฝนตกหนักเพื่อนำไข่ไม่กี่ฟองที่ยืมไปจากเพื่อนบ้านไปคืน เมื่อไปถึง เพื่อนบ้านคนนั้นบอกว่าเอามาคืนพรุ่งนี้ก็ได้ จอร์จ วอชิงตัน(หรือพ่อเขาเนี่ยแหละ) บอกว่าผมต้องคืนวันนี้ เพราะผมไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้ผมจะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า

หนังดำเนินเรื่องผ่านตัวเอกของเรื่อง ฟูจิโมโตะที่มีหน้าที่นำอิคิงามิไปมอบกับเป้าหมาย 3 รายด้วยกัน และได้มีโอกาสร่วมสังเกตุการณ์และรับรู้ชีวิตของพวกเขา

หนังคัดเลือกเรื่องราวเด่น ๆ จากหนังสือการ์ตูนมาทำเป็นเนื่้อหาสั้น ๆ 3 ตอนในหนึ่งเรื่อง และยังสอดแทรกเรื่องสั้น ๆ ไว้ตอนต้นเรื่องอีกหนึ่งเรื่อง โดยแต่ละตอนจะมีการแสดงออกของตัวละครที่แตกต่างกัน


ตอนสั้นๆ ตอนแรกตัวละครเลือกที่จะแสดงออกอย่างก้าวร้าวโดยการออกไปแก้แค้นเพื่อนที่เคยกลั่นแกล้งเขาในสมัยก่อน

ตอนที่ 1 บทเพลงที่ถูกลืม เป็นเรื่องของมิตรภาพของชายสองคนที่ตามหาความฝันของตัวเองโดยการเป็นนักดนตรีข้างถนน แต่วันหนึ่งเส้นทางชีวิตแยกเข้าออกจากกัน และทิ้งรอยบาดหมางไว้ในชีวิตของเขาทั้งคู่ จนเมื่ออิคิงามิถูกส่งถึงมือ (1 ใน 2 คนนั้น) ทำให้เขาทำบางอย่างเพื่อแสดงถึงมิตรภาพต่อเพื่อนรักในอดีต

ตอนที่ 2 พ่อแม่ลูกนักการเมือง เป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาสังคมอย่างหนึ่ง คือปัญหาครอบครัว พ่อแม่ไม่มีเวลาสนใจและใส่ใจดูแลลูกของตัวเอง ยึดไว้เพียงอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ทำเพื่อประเทศชาติ แต่ลืมไปว่าทุกสิ่งต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน ถ้าปกครองครอบครัวตัวเองไม่ได้ จะไปปกครองคนอื่นได้อย่างไร สิ่งที่ตัวละครในเรื่องทำเมื่อได้รับอิคิงามิจึงเป็นการแสดงออกที่ต่อต้านสังคม เพื่อระบายความโกรธแค้นในจิตใจ

ตอนที่ 3 พี่ชายน้องสาว น้องสาวตาบอดจากอุบัติเหตุ พ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เหลือญาติคือพี่ชายเพียงคนเดียว จนเมื่อวันหนึ่งพี่ชายมาบอกว่าได้งานทำเป็นหลักเป็นแหล่งแล้วจะรับน้องสาวมาดูแล ชีวิตดูเหมือนจะไปในทิศทางที่ดี แต่เมื่ออิคิงามิมาถึงมือนั้น ทุกอย่างที่วาดฝันไว้พังทลาย แต่แม้ดูเหมือนสิ้นหวังแต่ฝ่ายหนึ่งกลับวางแผนใช้เหตุการณ์ทำบางอย่างเพื่อส่งต่อความรักที่มีต่อกันฉันท์พี่น้องเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้อีกฝ่ายได้รับสิ่งที่ดีสุดจากตน แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้เป็นคนที่ดีอะไร อย่างที่พยายามทำให้เข้าใจตลอดมา

จริง ๆ แล้วเนื้อหาของอิคิงามิเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ไม่ยาก ไม่มีอะไรซับซ้อนหรือหักมุม เพราะเนื้อหาเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกกินใจแก่ผู้ชม กับมุ่งเน้นสะท้อนปัญหาสังคมผ่านเรื่องราว

แน่นอนว่าหลายคนที่ดูเรื่องนี้น่าจะชอบตอนที่ 1 , 3 และ 2 มากที่สุดตามลำดับ


โดยตอนแรกนั่นมีเพลงเอกที่ทำให้อารมณ์ของหนังนั้นพาคนดูอย่างเราให้รู้สึกซาบซึ้งระคนสงสาร คือเพลง "ป้ายบอกทาง"

ซึ่งในการ์ตูนตอนนี้ก็เป็นตอนที่คนอ่านส่วนใหญ่ประทับใจ แต่หนังมีดีกว่าตรงที่มีเพลงให้ได้ฟังด้วย และบทเพลงก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างถึงอารมณ์ เรียกว่าร้อยคนดู เชื่อว่าต้องร้องไห้ไม่ก็น้ำตาซึมแน่ ๆ

โดยเฉพาะผู้ชายอย่างผมมักไม่ค่อยเสียน้ำตาให้ฉากรักหรือพระเอกตาย นางเอกตายซักเท่าไหร่ แต่มิตรภาพของเพื่อนนั้นกินใจผู้ชายอย่างผมเสมอ....ผู้ชายท่านอื่นเห็นด้วยหรือเปล่า? 555

ตอนนี้ถือว่าค่อนข้างลงตัวที่สุด เพราะเราได้เห็นถึงความรู้สึกของผู้เป็นแม่ด้วย ที่ต้องเฝ้ามองวาระสุดท้ายของลูกตัวเอง โดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากให้กำลังใจ และสื่อสารเจตนาของลูกชายไปยังคนที่เขาตั้งใจจะสื่อสาร และมิตรภาพของเพื่อน

อยากจะพูดประโยคนี้จัง แม้จะไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องนี้โดยตรงก็ตาม "เพื่อนคือคนที่เดินเข้ามาหาเราเป็นคนแรก เมื่อคนทั้งโลกจากเราไป"

สำหรับตอนที่ 2 หลายคนคงคิดว่า ไม่มีก็ได้ จริง ๆ แล้วตอนที่ 2 ในการ์ตูนให้อารมณ์หม่นหมองมากกว่า และกดดันกว่า เพื่อสื่อให้เราเห็นผลเสียของการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดว่าส่งผลกระทบถึงคนอื่นอย่างไร และสุดท้ายแล้ววันหนึ่งมันก็อาจจะย้อนกลับมาหาเราโดยไม่รู้ตัว

แต่เมื่อตอนที่ 2 มาปรากฏอยู่ในเรื่อง จึงเป็นเหมือนตอนขั้นกลางเพื่อเว้นจังหวะ และเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่ง เพราะตอน 3 ก็กลับมาซึ้งอีก

แต่ผมเข้าใจว่าผกก.เลือกใส่ตอนที่ 2 เข้ามาเพื่อปูเรื่องไปสู่การสร้างภาคสอง เพราะในตอนท้ายเราจะเห็นว่าตัวละครหนึ่งตัดสินใจจะลงเล่นการเมืองเพื่อแก้ไขกฏหมายนี้ เนื่องจากตัวเองเป็นหนึ่งในผู้รับผลกระทบโดยตรง

อีกอย่างหนึ่งนั้น ในเรื่องเราจะเห็นบุคลิกของพระเอกที่แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่มีความคิดความอ่าน และจากการเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการตายของเป้าหมาย ทำให้เขาเกิดความรู้สึกคลางแคลงใจในเหตุผลของการมีอยู่ของ "กฏหมายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ"

พระเอกจึงเป็นตัวแทนของคนที่คิดนอกกรอบ อย่างรอบคอบ (ตอนต้นเรื่องเราเห็นไปแล้วว่าไม่รอบคอบจะเป็นอย่างไร)

นอกจากนั้นเรายังเห็นตัวแทนของผู้บริหารระดับกลาง คือหัวหน้าพระเอกที่แสดงให้เห็นกลาย ๆ ว่าอาจจะมีแนวคิดบางอย่างคล้ายพระเอก แต่เลือกที่จะทำตามระบบของรัฐบาลดีกว่าทำตัวมีปัญหา เป็นตัวแทนของคนดีที่เลือกที่จะปรับตัวยอมรับอำนาจของผู้อำนาจและไม่ขัดขืน เพื่อรักษาสถานภาพทางสังคมของตัวเองไว้ดีกว่า แต่ก็แสดงความห่วงใยพระเอกที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ให้อย่าทำอะไรบุ่มบ่าม

คิดว่าภาคต่อไปน่าจะมีบทบาทมากขึ้น


ส่วนตอนที่ 3 สำหรับผมเป็นตอนที่ให้ความรู้สึกน่ารักและอบอุ่น การแสดงของนักแสดงทั้งตัวพี่ชายก็ดี น้องสาวก็ดี แสดงได้ดี โดยเฉพาะตัวพี่ชายที่แสดงอารมณ์ทางสีหน้าและคำพูดได้ดีในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางอารมณ์ (ภายในเป็นอย่างหนึ่ง แต่ต้องแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง)

บทหนังตอนนี้เลือกจะเล่าเรื่องโดยการให้เรื่องราวพาตัวหนังไปถึงจุดไคลแมกซ์เอง ไม่ใส่เพลง หรือบีบคั้นอารมณ์ให้ฟูมฟายแต่อย่างใด เป็นการจบเรื่องแบบประทับใจมากกว่าจะเศร้าเสียใจ

ซึ่งถือได้ว่าน่าพอใจ แต่หลายคนอาจจะคาดหวังให้หนังดึงความรู้สึกของเราอย่างเต็มที่ ซึ่งผมคิดว่าอารมณ์ของหนังตอนนี้แตกต่างจากตอนแรกไปคนละแบบ

เมื่อผมดูจบก็เห็นว่าหนังหรือหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้นั้นมีประเด็นเสียดสีสังคมคล้าย ๆ กันกับ Battle Royal การ์ตูนเรื่องดังที่ได้สร้างเป็นหนังเช่นกัน

เรื่องนั้นก็เสียดสีสังคมและความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่มืดมนกว่า และกินใจน้อยกว่า (แต่สะเทือนใจกว่า)

อิคิงามิ จึงเป็นภาพยนตร์ที่ดูจบแล้วบอกต่อได้ไม่อายปาก

และถ้าคุณจะดูอย่างมีความหมาย เมื่อดูจบ ก็ให้ถามตัวเองว่า "คุณทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้วหรือยัง"

อย่าลืมรักพ่อรักแม่ให้มาก ๆ ในวันที่เขายังอยู่ (หรือคุณยังอยู่) นะครับ

7.5/10 คะแนน




เพลงป้ายบอกทางครับ ถ้ายังไม่ได้ดูแนะนำว่าอย่าเพิ่งฟังดีกว่า


Free TextEditor

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

เฉือน ฆาตกรรมรำลึก ชีวิตบัดซบในโลกที่โหดร้าย


รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ

ยอมรับตามตรงว่านาน ๆ ทีถึงจะได้ดูหนังไทย แต่ไม่เคยแอนตี้หนังไทยเลย

สำหรับเรื่องนี้ ตัวผมถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงสำหรับหนังเรื่องนี้เลยนะครับ นาน ๆ ทีจะมีหนังแนวนี้ของไทยออกมา ที่ไม่มีผีสางนางไม้มาเกี่ยวข้อง เป็นแนวสืบสวนล้วน ๆ

เรื่องย่อขอก็อปมาจากเวบหนังทางการของเรื่องเลยแล้วกัน

เกิดคดีฆาตกรรมต่อเนื่องสุดสยอง เมื่อเหยื่อทุกรายถูกฆ่าหั่นศพ และนำชิ้นส่วนแยกไปทิ้งคนละแห่ง ศพแล้วศพเล่า ตำรวจมืดแปดด้านไม่อาจหาตัวฆาตกรได้

ไท รับบทโดย เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ นักโทษชั้นหนึ่ง อดีตมือปืนรับจ้างกลับใจ เขาพยายามที่จะบอกเรื่องความสงสัยที่เขารู้ว่าใครคือฆาตกรรายนี้กับ ชิน รับบทโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช นายตำรวจใหญ่ที่ใช้เขาทำงานลับ แต่ชินไม่ใส่ใจฟัง แต่เมื่อเหตุสยองเกิดขึ้นอีกคราวกับลูกชายรัฐมนตรี ตำรวจต้องพยายามทำทุกวิถีทางในการจับฆาตกรมาลงโทษให้ได้ และไทก็ถูกนำตัวมาจากเรือนจำ การต่อรองเกิดขึ้น ไทขอให้ปล่อยตัวเขาโดยไม่มีข้อแม้ และขออิสระในการทำงานทุกอย่าง โดยภายใน 15 วัน เขาจะต้องนำตัวฆาตกรมาลงโทษให้ได้ โดยจับตัวภรรยาของเขาไว้เป็นตัวประกัน ถ้าเขาไม่กลับมาพร้อมฆาตกร ให้ฆ่าภรรยาเขาทันที

ไทแกะรอยจากความทรงจำของเขาในอดีต และแล้วความจริงจากอดีตก็เริ่มฉายภาพชัดขึ้นฆาตกรมืออาชีพ และฆาตกรต่อเนื่อง ถูกกำหนดให้เผชิญหน้ากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อะไรคือบทสรุปที่มาแห่งการฆาตกรรม

สำหรับผมแบ่งหนังเรื่องนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของ Flash back ที่เป็นเรื่องราววัยเด็กของไท และเนื้อหาในปัจจุบันที่เป็นการเดินทางไขปริศนาคดีของไทให้ทันเวลา โดยมีชีวิตของน้อยเป็นเดิมพัน

เรื่องราวในวัยเด็กนั้นถือว่าทำออกมาได้ดีถึงดีมาก บทหนังทำให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครหลัก (ในวัยเด็ก) และความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรภาพที่ก่อเกิดขึ้นบนความเห็นอกเห็นใจ แต่สุดท้ายความโหดร้ายของสังคมก็ไม่ปราณีใคร และเด็กก็ยังเป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ สิ่งที่พวกเขาพบเจอเกินกว่าที่เด็กธรรมดาจะแบกรับมันไว้ได้ เป็นเหตุให้ตัวละครหนึ่งตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งขึ้น อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของพวกเขา

การแสดงของตัวละครหลัก แสดงออกได้ถึงตามบทบาทที่ได้รับ ทำให้คนดูอย่างเราสนุกไปการรับชมชีวิตของพวกเขา ซาบซึ้งไปกับมิตรภาพที่ให้กัน เห็นใจกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญ และแม้แต่เข้าใจเมื่อบางคนตัดสินใจเลือกทำบางอย่าง

ฉากแสดงอารมณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน ก็ทำได้ดี ดีจนน่าชมเชย

ในส่วนนี้ ผมให้คะแนน 9/10


อีกส่วนหนึ่่งคือเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งน่าเสียดายที่ข้อด้อยแทบทั้งหมดของหนังอยู่ในส่วนนี้

จริง ๆ แล้วสัดส่วนของตัวละครในปัจุจุบันนั้นมากกว่าในเหตุการณ์ย้อนอดีต แต่กลับไม่รู้สึกว่าเรื่องราวในปัจจุบันมีเนื้อหาอะไรน่าสนใจ นอกเสียจากว่าตัวฆาตกรคือใคร

ความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งไท น้อย และชิน ดูบางเบา ไม่หนักแน่น เนื่องจากมีการปูเรื่องที่น้อยเกินไป อีกทั้งการแสดงของคุณเป้ในเรื่องนี้แล้ว อยู่ในเกณฑ์เกือบผ่าน ซึ่งหมายความว่าไม่ผ่าน โดยเฉพาะซีนที่ต้องเค้นอารมณ์ในตอนจบนั้นไปไม่ถึงอย่างที่บทคาดหวัง

แต่ก็ถือว่านักแสดงท่านนี้มีพัฒนาการทางการแสดงในทิศทางที่ดี

สำหรับคุณเจสสิก้า ดาราหน้าใหม่นั้น การแสดงของเธอในเรื่องนี้ยังดูประดักประเดิดอยู่บ้าง ยังไม่สามารถเค้นอารมณ์ หรือใส่อารมณ์บางอย่างที่ควรจะมี หรือจำเป็นต้องมีของตัวละครตัวนี้ เมื่อบทหนังพาตัวละครตัวนี้ไปถึงจุดที่ต้องเรียกร้องความรู้สึกบางอย่างกลับมาจากคนดู ทำให้ตัวละครตัวนี้ขาดมิติในเชิงลึกไป (แม้บทจะมีมิติ แต่การแสดงไปไม่ถึง)

แต่ใช่ว่าเธอจะแสดงได้เลวร้าย เพียงแต่ผมรู้สึกว่าบทหนังเรียกร้องให้เธอแสดงมากเกินกว่าที่ตัวเธอจะทำได้ในฐานะนักแสดงใหม่

ส่วนตัวคุณฉัตรชัยแล้วถือว่าให้การแสดงที่เป็นไปตามมาตรฐานของตัวเองที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บทบาทของเขาถูกกลบด้วยการแสดงรูปร่างภายนอกของตัวละครให้ออกมาดูสุดโต่ง

โกรกผมสีขาว ใส่เสื้อขาวเหมือนพวกนักบวช คนดูยากที่ยอมรับได้ รู้สึกว่าหลุดออกจากโลกของความเป็นจริง
จากประเด็นนี้ เห็นได้ชัดว่าผกก.และผู้เขียนบท มีเจตนาที่จะทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาในแนวเสียดสีสังคม (วงการตำรวจ , ปัญหาครอบครัว , ปัญหาความเสื่อมทรามของสังคม , การล่วงละเมิด) และใช้สัญญลักษณ์เรื่องสีเพื่อทำให้โทนหนังออกมาในแนวฟิล์มนัว (Film noir) ผสมความเหนือจริง

ในส่วนนี้ ผมให้ 6/10


โดยสรุป

ส่วนที่เป็นข้อด้อยของหนังเรื่องนี้คือ


1. แรงจูงใจของฆาตกรที่ดูจะเกินเลยขอบเขตไปบ้างและดูไม่สมเหตุสมผลในบางเคส บางกรณี เมื่อหนังเฉลยที่มาที่ไปของเรื่องแล้ว

2. การให้ตัวละครบางตัวแต่งตัวสีสันฉูดฉาด เพื่อขับเน้นภาพสัญญลักษณ์ขึ้นมา ดูเป็นส่วนล้นหลุดออกมาจากตัวหนังเกินไป ถ้าปรับทั้งหมดให้ดูจริงจังและสมจริงลง คนดูอาจรู้สึกไม่แปลกแยกจากการรับชมมากเกินไป

3. การแสดงในส่วนไคลแมกซ์ที่ตั้งใจบีบคั้นความรู้สึก แต่ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย

4. เนื้อหาในส่วนของการสืบสวน เพื่อไขปริศนาดูอ่อนอย่างเหลือเชื่อ แต่กลับได้เนื้อหาใน Flash back มาช่วยกอบกู้เอาไว้

5. ในเรื่องขาดตัวบอสใหญ่ ทำให้บทต้องผลักภาระหน้าที่นี้ไปให้ตัวละครตัวหนึ่งแทน แต่ความสัมพันธ์กันของแรงจูงใจในการจัดการกับตัวบอสใหญ่ ไม่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าถึงที่สุดแล้ว

ส่วนที่เป็นข้อดีของหนังเรื่องนี้

1. ในส่วนของ Flash back ภาพสวย ถ่ายทำดี ยิ่งโดยเฉพาะใครที่เป็นเด็กต่างจังหวัด ดูแล้วต้องมีอารมณ์ร่วมแน่ ๆ

2. การแสดงรับส่งของนักแสดงในวัยเด็ก คือส่วนที่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดในเรื่อง


3. และแน่นอนเรื่องราวของเขาทำให้เราติดตาม สนใจและเอาใจช่วยอย่างเต็มที่ (ผมนึกถึงหนังเรื่อง Up ที่ส่วนที่ดีที่สุดของหนังก็คือ Flash back เหมือนกัน)

4. ผมขอชื่นชมกับการแสดงของตัวละครเล็ก ๆ ตัวหนึ่งในเรื่อง ที่หลายคนมองข้าม คือตัวหัวหน้านักเลงที่โรงแรมในพัทยา (ที่แต่งตัวเหมือนบ๋อยนั่นแหละ) ผมคิดว่าเขาให้การแสดงที่ดีมาก ๆ ทั้งการพูดการแสดงดูไหลรื่นเป็นธรรมชาติมาก ๆ (หรือชีวิตจริง ๆ จะเป็นอย่างนั้น ...ฮา) นี่ถ้าเป็นฮอลลีวู้ด อาจจะได้เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบยอดเยี่ยมจากเวทีใด เวทีหนึ่งก็ได้ (ขนาด Judi Dench ยังได้ออสการ์มารับแล้วกับบทที่ปรากฏตัวบนหนังแค่ 5 นาที)


โดยรวมแล้วผมให้ 7.5/10 สำหรับหนังเรื่องนี้ครับ


หนังกำกับโดยคุณก้องเกียรติ โขมศิริ

หนังสองเรื่องก่อนของเขานั้นผมก็ชอบมากเช่นกัน (ลองของ , ไชยา)
เขียนบทโดยคุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

ส่วนต่อไปเป็นการพูดคุยแบบ Spoil เนื้อหา
ใครยังไม่ได้ดูให้ข้ามไปเลยนะครับ

Spoil Alert.......



สำหรับผมแล้วผมคิดว่านัทไม่ได้เป็นกระเทยโดยความตั้งใจของตัวเอง เขาแค่เป็นเด็กที่ไม่มีเพื่อน ที่ขอแค่มีใครซักคนเห็นคุณค่าเขา ยอมรับเขาเป็นเพื่อน แม้จะถูกทำไม่ดีเขาก็ทน

คนแบบนี้มีเยอะนะครับในสังคม เช่นผู้หญิงบางคนยอมอยู่กับผู้ชายชั่ว ๆ เพราะต้องการความรัก

เพียงแต่ในเรื่องไทไม่ได้ทำถึงขนาดนั้น แต่ฉากที่ไทต่อยนัทเพื่อให้เพื่อนยอมรับตัวเองนั้น ถือว่าทำได้สะเทือนใจดี

อย่างฉากที่หลังจากที่พวกไทกับนัทโดนรุมซ้อมกลับมาแล้ว นัทพลิกตัวไปจะไปกอดไท แล้วไทโมโหขึ้นมา ก็เป็นซีนแสดงอารมณ์ที่ดีมาก ๆ แสดงได้ดีทั้งสองคน ผมไม่คิดว่านัทตั้งใจ เพียงแต่ทำไปเพราะคิดว่าสงสารเพื่อนเท่านั้น แต่ตัวไทเองที่รับแรงกดดันมาตลอดจากความยากลำบาก และถูกซ้อมแทบทุกวันจนเกิดความตึงเครียด ความที่เป็นเด็กจึงขาดสติยั้งคิดและการควบคุมอารมณ์ไป เลยด่าว่านัทแบบแรง ๆ เป็นการระเบิดอารมณ์ที่เก็บกด

และตัดสินใจขายนัทให้กับพวกนักเลง

ชีวิตของนัทต้องเรียกว่าบัดซบ โดนพ่อทำไม่ดี โดนเพื่อนแกล้ง ต้องตกระกำลำบาก สุดท้ายโดนเพื่อนรักที่สุดทอดทิ้งและหักหลัง

ผมคิดว่าชีวิตเขาหลังจากนั้นต้องย่ำแย่แน่ ๆ (หนังไม่ได้ทำให้เห็น) สุดท้ายเลยเป็นเหตุให้เขาเลือกยึดอาชีพขายบริการแล้วก็เป็นกระเทยไปเสียเลย

สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าเขาไม่น่าจะเป็นกระเทยด้วยความชอบของตัวเอง เพราะตอนที่ไทไปถามจากตำรวจ ตำรวจบอกว่านัทมีเรื่องชกต่อยเป็นประจำ และยิ่งดูจากหน้าตาของนัทตอนนั้นแล้วยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าเขาไม่ได้ต้องการเป็นแบบนั้น


แต่อย่างที่บอก นัทเองก็รู้สึกว่าชีวิตเขามันบัดซบ คน ๆ เดียวในโลกที่เคยเห็นเขาอยู่ในสายตาคือไท อย่ากระนั้นเลย เขาเลยแปลงเพศตัวเองแล้วตามหาไท เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับไทแบบคนรัก ซึ่งดันสำเร็จเสียด้วย

จริง ๆ แล้วชีวิตของนัทกับไทในวัยเด็กนั้นเหมือนกัน ทั้งสองคนต่างต้องการเพื่อน เพียงแต่ไทมีบุคคลิกที่เข้มแข็งกว่านัทเท่านั้นเอง

ในขณะที่ไทพยายามทำให้เพื่อนกลุ่มใหญ่ยอมรับ และให้เขาเล่นด้วย แต่เขาก็พบความจริงว่า เด็กที่ไม่ใครอยากเป็นเพื่อนด้วยอย่างนัท กลับเป็นเพื่อนที่เขาเข้าได้ดีที่สุด คุยกันถูกคอมากที่สุด และเล่นด้วยสนุกที่สุด

นั่นเพราะอะไร เพราะต่างคนต่างยอมรับกันและกันไง เป็นมิตรภาพที่บริสุทธิ์

มีสิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยจากหนังและรู้สึกว่ามันไม่เคลียร์คือ ไทลืมเรื่องในวัยเด็กของเขาเหรอ ลืมว่าเขาเคยขายนัทให้พวกนักเลง ลืมว่าเขาทิ้งนัทไว้ที่พัทยา ลืมแบบลืมธรรมดา หรือเป็นการลืมแบบจิตใต้สำนึก คือความรู้สึกผิดทำให้ระบบความคิดเขาทำให้เขาลืม

เพราะถ้าไม่งั้นตอนที่เขาคิดว่าเขาน่าจะรู้จักกับตัวฆาตกร เพราะคิดว่าตัวฆาตกรน่าจะเกี่ยวกับชีวิตของเขาในวัยเด็กนั้น เขาน่าจะตรงไปพัทยาเลย ไม่ต้องย้อนมาบ้านเกิดแล้วก็สืบรู้ว่านัทอยู่ที่พัทยา (ก็ตอนไปก็ไปด้วยกันนี่หว่า)

ทำให้เนื้อหาตรงนี้ดูขาด ๆ ไป แล้วดูแล้วไทก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลยในแบบที่เรียกว่า "สอบสวนหาความจริง" นอกจากว่าจะตามไปจนเจอหลักฐานว่านัทแปลงเพศเป็นน้อยแล้ว

อีกอย่างคือการฆ่าของน้อยดูไม่สมเหตุสมผลไปหน่อย ฝรั่ง กับ ครูโอเค แต่กับต๊อก ผมว่าสิ่งที่เขาทำกับนัทตอนเด็ก ๆ เป็นแค่การแกล้งกันเล่นของเด็กที่นิสัยไม่ดีเท่านั้น ไม่น่าจะเป็นแรงจูงใจให้เก็บมาฆ่าโหดขนาดนั้น แล้วยิ่งฆ่าหมดยกปาร์ตี้เลยยิ่งดูเลยเถิดกันใหญ่

อย่างที่พูดไว้ข้างต้น ตอนท้ายเรื่องที่เป็นไคลแมกซ์ของเรื่องนั้นอารมณ์ที่ต้องการจะบิ๊วท์ให้ไปถึงจุดหนึ่งนั้นทำไม่ถึง ส่วนหนึ่งมาจากการแสดง อีกส่วนหนึ่งผมว่ามาจากการกำหนดสถานการณ์ด้วย

เราจะเห็นตำรวจวิ่งรถมาแต่ไกล และจอดใกล้กับโรงนาแล้ว แต่จนแล้วจนรอดตำรวจก็วิ่งมาไม่ถึงซักที อันนี้อย่างหนึ่ง

อีกอย่างคือไทไม่กลัวตำรวจเห็นเหรอ ตอนที่ยิงนัท(หรือน้อย) ถึงตำรวจไม่เห็นก็ตาม ยิงเสร็จแล้วไงต่อ หนำซ้ำยิงในท่านั้น ตอนยิงผมสะดุ้งเลย ไม่ใช่เพราะตกใจสงสาร แต่เพราะตกใจว่าเฮ้ยยิงกันท่านี้ไม่กลัวโดนตัวเองเหรอ

ถ้าเปลี่ยนโลเกชั่นเป็นประภาคารแล้วน้อยกำลังจะตกลงมา เพราะก่อนนี้ต่อสู้แย่งปืนกัน หรืออะไรบางอย่าง แล้วไทคว้ามือไว้ได้ แล้วไม่ยอมปล่อย แต่น้อยบอกให้ปล่อย ร้องห่มร้องไห้ พูดขอโทษกันและกัน ไทพยายามอย่างที่สุด แต่น้อยขอร้องให้ปล่อยเขาไป สุดท้ายมือก็หลุดจากกัน (โดยที่คนดูต้องเก็บมาคิดต่อว่าไทตั้งใจปล่อยตามคำขอร้องหรือมือหลุดจากกันเอง) น้อยตกลงมาตาย ดนตรีขึ้น ภาพตัดเป็น flash back ตอนที่เล่นกันตอนเด็ก ๆ ในทุ่งหญ้าและโรงนา ตัดสลับกลับมาที่ภาพปัจุบันแบบสโลว์นิด ๆ ไม่มีเสียงตัวละคร ไทคุกเข่าร้องไห้ กล้องแพนมุมกว้างออกจากเหตุการณ์ไปยังทุ่งหญ้า ปรากฏภาพเด็กทั้งสองคนวิ่งเล่นว่าวกันกลางทุ่งหญ้าสนุกสนาน

จะดีไหม ก็คิดกันไป

ป.ล.

สารภาพอย่างหนึ่ง ผมรู้ว่าตอนจบจะเฉลยว่าน้อยคือนัท ตั้งแต่ยังไม่ถึงกลางเรื่องดี เพราะผมชอบดูหนังแบบนี้ อ่านนิยายแบบนี้ และตั้งใจจะคิดพล็อตนิยายแนวนี้ขึ้นมาเขียนด้วย ทำให้จินตนาการไปเรื่อย กอปรกับเคยดูเรื่องนี้ที่ตอนท้ายเฉลยว่านางเอกเป็นเพื่อนพระเอกแปลงเพศมาเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหนังสยองขวัญของไทยเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนั้นเข้าขั้นบทแย่ บางคนบอกว่าห่วยด้วยซ้ำ นัั่นก็คือ

(ถ้าพูดถึงตรงนี้แล้วคุณยังนึกชื่อเรื่องนั้นไม่ออก แสดงว่าคุณไม่เคยดูมาก่อน ถ้าไม่อยากถูกสปอยล์ ให้ข้ามไปเลย)
spoil alert











ใช่แล้วครับสวยลากไส้นั่นเอง


ถือว่าเซ็งไปเลย

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

รัก ลวง ตาย : โศกนาฏกรรมแห่งความรัก

บทความนี้อาจมีเนื้อหาที่สปอยล์บางส่วน แต่ไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง

ผมเป็นคนดูหนังได้ทุกสไตล์ จะตลก ซึ้ง เศร้า อาร์ต หรือยิงภูเขา เผา กระท่อม ก็ดูได้ทั้งนั้น แต่ถ้ามีให้เลือกว่าจะดูอะไรก่อน คงต้องขอแนว Thiller , Suspense , Horror ประมาณนี้ก่อนเป็นอันดับแรก

แต่กับนิยายนี่ยอมรับเลยว่า ยังอ่านได้ไม่หลายแนว (แน่นอนแนวโปรด ต้องสืบสวน ฆาตกรรม ซับซ้อนซ่อนเงื่อน) อย่างเคยพยายามอ่าน The Note Book ของ Nicholas Sparks ทุกวันนี้ยังอ่านไม่จบ ยังอยู่บนหิ้งอยู่เลย แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นหนังก็คงไม่มีปัญหา (แต่ยังไม่ได้ดูอยู่ดี)

แน่นอนเหตุผลสำคัญหรือหนังเราดูกันชั่วโมงครึ่ง สองชั่วโมงก็จบ แต่กับนิยายบางเล่ม ใช้เวลาอ่านต่อเนื่องกันเป็นวัน ๆ

สำหรับเรื่อง รัก ลวง ตาย นี่ผมคว้ามาอ่าน เนื่องจากได้ยิน (ได้อ่าน) ความเห็นหลายคนว่ายอดเยี่ยม และทำเป็นซีรี่ย์แล้ว (ในชื่อว่า Galileo ไว้วันหลังค่อยเขียนถึงซีรี่ย์อีกที) เลยไปหาซื้อมาอ่านแทบจะทันที

แล้วก็ไม่ผิดหวัง ถ้าคุณอ่านจบแล้วสามารถแปะป้ายได้เลยว่ายอดเยี่ยม

พลิก ๆ ดูแล้วก็พบว่าผู้เขียนคือ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ได้รับรางวัลจากงานเขียนชิ้นนี้มาหลายรางวัลทีเดียว....เดี๋ยวเรื่องประวัติเอาไว้ตอนท้ายนะครับ

ถ้าใครเคยดูเรื่อง Titanic จะรู้ว่า หนังเรื่องนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จมหาศาลได้อย่างแน่นอน ถ้าศูนย์กลางของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความรักของ Jack กับ Rose

เป็นเรื่องจริงที่คนเราโหยหาความรัก คนทุกคนมีช่องว่างในหัวใจ คนดูหนังและอ่านนิยายอย่างไรก็ไม่ต่างกัน เมื่อใดที่เราพบประสบกับเรื่องราวความรักที่น่าประทับใจ เรามักจะมีใจให้กับเรื่องนั้น ๆ มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ลองจินตนาการถึง Titanic ที่ไม่มีเรื่องระหว่าง Jack กับ Rose ดูซิครับ มันจะกลายไปเป็น Poseidon เวอร์ชั่นทุนสร้าง 200 ล้านดอลล่าห์แทน แล้วก็จะกลายเป็นหนังหายนะขายเอฟเฟกต์ไปแทน

รัก ลวง ตาย หรือ YOGISHA-X KENSHIN ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน แต่มาในรูปแบบที่แบ็คกราวน์เป็นเรื่องฆาตกรรม ซ่อนเงื่อนแทน

หนังสือเปิดเรื่องด้วยการแนะนำให้เรารู้จักกับตัวละครหลักของเรื่องคือ อิชิงามิ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าอิชิงามิ เป็นคนประเภทที่เวลาเราเดินสวนกันบนท้องถนนหรือ แม้แต่จะนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน เราก็อาจจะสนใจหรือจดจำเขาได้เลย หน้าตา บุคลิก ท่าทาง ไม่มีอะไรที่ชายคนนี้จะเรียกร้องความสนใจของคนรอบข้างได้เลย เป็นคนประเภทโลว์โปรไฟล์ (Low profile)

แต่ก็ใช่ว่าเขาจะเดือดร้อน เขายอมรับได้ในสิ่งที่เขาเป็น แต่มีสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่อาจรู้ได้ คือ ชายคนนี้เป็นอัจฉริยะที่หาได้ยากยิ่งนัก

ผู้เขียนไม่รอช้าที่จะพาเราไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่จะเป็นโศกนาฏกรรมแห่งความรักในที่สุด เมื่อยาสึโกะม่ายสาวลูกติดผู้หนีจากอดีตอันเลวร้ายของตัวเอง กลับต้องมาเผชิญกับฝันร้ายอีกครั้งในรูปแบบ ของการโผล่มาอย่างไม่คาดคิดของสามีเก่า

และสถานการณ์ได้บีบบังคับให้เธอและลูกสาวตัดสินใจหาทางออกให้กับตัวเอง ด้วยการร่วมกันจัดการกับปัญหานี้...ให้หมดไป และให้มั่นใจว่า มันจะไม่กลับมาทำร้ายเธอและลูกสาวอีก

จริง ๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่เกี่ยวกับ อิชิงามิเลย ถ้าเพียงแต่
1) เขาไม่ได้อาศัยอยู่ในห้องข้าง ๆ ยาสึโกะ
2) เขาไม่เคยแวะไปซื้ออาหารกล่องจากร้านที่ยาสึโกะทำอยู่บ่อย และเห็นได้ว่า อิชิงามิมีใจให้กับแม่ม่ายคนนี้
3) และเขาไม่เสนอตัวเองเข้าช่วยเธอและลูกสาว ด้วยการใช้สมองอันชาญฉลาดของเขาเข้าจัดการกับปัญหานี้ให้


ให้บังเอิญว่านายตำรวจคุซานางิ ที่เข้ามาดูแลเคสนี้ เป็นเพื่อนกับศาสตราจารย์ยุกาว่า ซึ่งได้รับสมญานามว่า ศจ.กาลิเลโอ เนื่องจากเป็นนักฟิสิกส์ที่ฉลาด และนำหลักการทฤษฏี ความเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์มาใช้ช่วยเหลือคลี่คลายคดีให้คุซานางิหลายต่อหลายครั้ง

และแน่นอน เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะคนหนึ่ง
คุซานางิ , ยุกาว่า , อิชิงามิ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน คุซานางิ เป็นเพื่อนกับ ยุกาว่า และ ยุกาว่าเป็นเพื่อนเก่ากับ อิชิงามิ

เนื้อเรื่องหลังจากนั้นจึงเป็นการชิงไหว ชิงพริบกันด้วยหลักตรรกศาสตร์ และสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ ของสองอัจฉริยะที่โคจรมาพบกัน คนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ชื่อดัง ที่ช่วยตำรวจไขคดีปริศนายาก ๆ มาแล้วหลาย ๆ ครั้ง

อีกคนหนึ่งเป็นครูคณิตศาสตร์โรงเรียนมัธยมธรรมดา ๆ ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีผลงานชื่อดัง ดำเนินชีวิตไปวัน ๆ ความสุขเล็ก ๆ ในชีวิตตลอดเวลาที่ผ่านมาคือการได้ไขคำตอบโจทย์คณิตศาสตร์ยาก ๆ จนกระทั่งได้พบกับความหมายของความรักในวันสิ้นหวังของชีวิต

คนหนึ่งจำใจทำเพื่อความถูกต้อง อีกหนึ่งคนเต็มใจทำเพื่อความรัก โดยมีชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน

ผู้เขียนสร้างแคแรกเตอร์ตัวละครอัจฉริยะที่มีบุคลิกแตกต่างกันขึ้นมาสองตัว แล้วโปรยคำถามไว้ว่า "อะไรยากกว่ากัน ระหว่างการหาคำตอบกับการพิสูจน์ว่าคำตอบของคนอื่นที่หามาได้นั้นถูกต้องหรือไม่"

นิยายแนวสืบสวนส่วนใหญ่มักจะเล่นกับคำถามว่า Who done it! คือมีคดีแล้วหาตัวฆาตกรรม ทริกที่ใช้ และตบท้ายด้วยแรงจูงใจ

แต่เมื่อเราอ่านเรื่องนี้ ตลอดทั้งเรื่องเราจะสัมผัสถึงแรงจูงใจของตัวละครในเรื่องอบอวลแต่หม่นหมองอยู่ตลอดเวลา คือ ความรักที่ใสซื่อของอิชิงามิ

ดังนั้นเนื้อหาไม่ได้มุ่งไปที่ประเด็นว่าใครเป็นคนทำ แต่ทำอย่างไรต่างหาก

ผมอ่านแล้วแว่บนึงก็นึกถึงตัวละครของ Vincent Hanna (รับบทโดย Al Pacina) กับ Neil McCauley (รับบทโดย Robert De Niro) ในหนังเรื่อง Heat (ของ Michael Mann) คนหนึ่งเป็นตำรวจ อีกคนเป็นผู้ร้าย ฉลาดเท่าทันกัน ชิงไหว ชิงพริบกัน และต่างยอมรับในกันและกันว่าเป็นคู่แข่งที่ทัดเทียมกัน

เป็นมิตรภาพที่มีให้กันบนความขัดแย้ง

ยุกาว่า และอิชิงามิก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน

คนอย่างอิชิงามิ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า "No one" ไร้ตัวตนและไม่มีความหมาย

แม้แต่ยาสึโกะเองก็ไม่เปิดใจรับความรู้สึกของอิชิงามิ เธอวางเขาไว้ในตำแหน่งที่สูงที่สุดได้เพียงแค่ผู้มีพระคุณ

แต่แม้กระทั่งเขารู้ว่าความรักของเขายากที่จะสมหวัง เขาก็ยินดีทำเพื่อความรัก

ผู้อ่านย่อมเห็นใจตัวละครตัวนี้เป็นอย่างยิ่ง ไม่แปลกใจที่ใครหลายคนจะเสียน้ำตาให้กับเรื่องนี้เมื่ออ่านจบ

บทพูดและการพรรณาในเรื่องมีสัดส่วนที่พอเหมาะ ไม่เยิ่นเย้อ หรือรวบรัดจนเกินไป ผู้เขียนไม่มัวเสียเวลาอธิบายถึงความรู้สึกของอิชิงามิในเชิงพรรณาให้มากความ แต่ใช้วิธีอธิบายผ่านการกระทำของตัวละครเอง

ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้เรื่องนี้ยังคงความเป็นนิยายสืบสวนได้เป็นอย่างดี

มีเพียงแค่จุดเดียวที่ผมรู้สึกถึงข้อด้อยของเรื่องราวอยู่บ้าง คือ การหาทางออกให้มิซาโตะ ลูกสาวของยาสึโกะนั้น รู้สึกว่าจะรวบรัดและกระทันหันเกินไปหน่อย

แม้จะจบแบบโศกนาฏกรรม ทำร้ายจิตใจคนอ่านอยู่บ้าง แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นทางออกสมควรเกิดขึ้น เพื่อชี้ให้เห็นความถูกผิด และการรับผลของการกระทำอย่างที่ควรจะเป็น

ถือเป็นหนังสือที่ใครถามว่าจะแนะนำเรื่องไหน ก็คงจะนึกถึงเรื่องนี้เป็นลำดับต้น ๆ แหละครับ

สำหรับเรื่องนี้ได้รับรางวัลมา 4 รางวัล แต่ที่สำคัญคือ Naoki Award ซึ่งน่าจะเป็นรางวัลที่ผู้เขียนสะใจมากที่สุด เพราะเป็นรางวัลสูงสุดของวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น และก่อนหน้านี้เคยเข้าชิงและพลาดมาแล้วถึง 5 ครั้ง

ฮิงาชิ เคโงะ มีผลงานอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์ในไทย เช่น ความลับ , ความลับใต้ทะเลสาป , จดหมายจากฆาตกร , เกมนี้ชื่อลักพาตัว , รักในโลกพิศวง

อ้อ เล่มนี้ตีพิมพ์ด้วย สนพ. NB Horror นะครับ

ซึ่งผมแปลกใจว่าทำไม JBook ปล่อยเรื่องนี้หลุดลอยไปได้ ทั้ง ๆ ที่เรื่องอื่น ๆ ของฮิงาชิโนะ เคโงะ JBook ก็พิมพ์ไปตั้งหลายเล่ม

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

The Fourth Kind เรียลลิตี้ ไซไฟ สยองขวัญ (อันไหนจริง อันไหนปลอม)


รีวิวกึ่งวิจารณ์ ไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญครับ

ลำดับที่ 1 (the first kind) คือ เห็น UFO (Unidentified Flying Object) หรือภาษาไทยแปลไว้อย่างสวยงามว่า วบกอม (55)
ลำดับที่ 2 (the second kind) คือ เห็นหรือพบเจอที่เอเลี่ยนทิ้งไว้ เช่น สัญลักษณ์ บาดแผล ลำแสง ความร้อน ฯลฯ
ลำดับที่ 3 (the third kind) คือ ติดต่อสื่อสารกับเอเลี่ยน
และลำดับที่ 4 (the fourth kind) คือ ถูกลักพาตัวโดยเอเลี่ยน

อย่างแรกที่ต้องบอกคือ หนังไอเดียดี
อย่างที่สองที่ต้องบอกคือ Milla Jovovich ในเรื่องนี้ดูสวยดี คือสวยแบบเป็นผู้เป็นคนธรรมดา เพราะเท่าที่ผ่านมา นักดูหนังบ้านเรามักจะเจอเธอในบทบาทหญิงเก่งแบบผิดมนุษย์มนากันทั้งนั้น (ลองนึกดูกันเอาเอง)

ผมดูเรื่องนี้ต่อจาก Paranormal Activity แล้วก็พบว่าสองเรื่องนี้มีไอเดียในการนำเสนอที่เหมือนกัน คือพูดง่าย ๆ ตั้งใจหลอก (คนดู) ให้เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องจริง เพื่อผลทางจิตวิทยาในการดูหนัง ให้คนดูมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันกับหนังมากขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จครับ

แต่แน่นอนสิ่งที่ต่างกันของ 2 เรื่องนี้คือ Paranormal Activity นี้อินดี้เห็น ๆ นำเสนอตัวเองในฐานะหนังทุนต่ำ ขายไอเดียและสร้างบรรยากาศ ไม่กระแทกกระทั้นอารมณ์ ไม่กระชากหรือบีบคั้นความรู้สึก ทำให้คนรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งที่เห็น ไม่ใช่ตกใจกลัว เล่นกับอารมณ์คนดู สิ่งที่ ผกก.ต้องทำการบ้านมา ไม่ใช่เรื่องบทหรือโปรดักชั่น แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจความรู้สึกของคนจริง ๆ ว่าแท้ที่จริงเรากลัวอะไรกันแน่

ซึ่งหนังประเภทนี้นั้น ถ้าทำถึง และคนดูเข้าถึง ก็จะได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก แต่ถ้าไปในทางตรงข้าม คำว่าน่าเบื่ออาจจะน้อยไป

แล้วหนังไปในทางไหนล่ะ? boxoffice ตอบคุณได้ครับ

ในทางกลับกัน เห็นได้ชัดว่า 4th Kind มาในร่างทรงของหนังสตูดิโอเต็มตัว มีนักแสดงซุปเปอร์สตาร์ มีโปรดักชั่น เล่นกับประเด็นที่ใหญ่โต และอยู่ในความสงสัยใคร่รู้ของอเมริกันชนมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่าหนังมนุษย์ต่างดาวไม่เคยขาดหายไปจากฮอลลีวู้ดเลย

แต่อย่างที่บอกครับว่าเรื่องนี้ประสบความสำเร็จที่ไอเดียดี

ในขณะที่หนังเอเลี่ยนเรื่องอื่น คิดบท พลิกแพลงกันไปหลายแบบ มายึดโลกบ้าง มาเป็นรูปร่างมนุษย์ช่วยโลกบ้าง มาจับตัวไปทดลอง มาในรูปร่างนั้นรูปร่างนี้ แม้แต่เวอร์ชั่นตลกเสียดสีไปเลยของ Tim burton ก็มีไปแล้ว

4th Kind พบแนวทางของตนเอง อย่ากระนั้นเลยเรื่องบทเป็นเรื่องรอง เรื่องนำเสนออย่างไรนั้นแหละสำคัญ

จึงเป็นที่มาของการหลอกคนดูในโรงจนหลายคนเชื่อซะสนิทว่านี่เป็นเรื่องจริง (ที่ว่าหลอกในโรง เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจลวงโลก แต่ต้องการนำเสนอให้เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงนะครับ คนละประเด็นกัน)

ดังนั้น บอกไว้ตรงนี้ก่อนว่าทุกอย่างที่เห็นในหนังเจตนาสร้างขึ้นทั้งนั้น และมีตัวแสดงทุกคน (คิดว่าหลายคนที่หาข้อมูลมาแล้วก็คงจะทราบดีอยู่) ถ้าไม่แน่ใจ google และ imdb ช่วยคุณได้ครับ

หนังเดินหมากเริ่มต้นได้อย่างดี ด้วยการให้ Milla Jovovich เดินมาบอกผู้ชมตรง ๆ ว่าหนังจะนำเสนออย่าไร และเราก็เชื่ออย่างนั้นเช่นกัน (เว้นแต่เราจะมีข้อมูลก่อนดูหนัง ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการที่ดีเลยครับ สำหรับผมเวลาจะดูหนังอะไร ถ้าเขาจะทำให้เราเชื่ออะไร ก็ยอมเขาเถอะ จะได้ดูหนังได้สนุก จบแล้วค่อยว่ากัน)

นี่ถือเป็นความฉลาดของบทหนังที่สร้างผลทางจิตวิทยาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เพื่อทำให้หนังเกิดอรรถรสมากยิ่งขึ้น (เหมือนสมัยก่อน ทำไมคนแห่กันไปดูแอบดูเป็นแอบดูตายกันแน่นโรง นั่นแหละครับ)

ตัวเนื้อเรื่องผมคงไม่มีอะไรให้พูดถึงมากมาย หนังดำเนินเรื่องไปในทิศทางของตัวเอง สไตล์หนังลึกลับ เริ่มจากปมเรื่องของสามีนางเอก และต่อมาด้วยปมเรื่องของคนไข้ในความดูแลนางเอก ไปจนถึงจุดเฉลย และไคลแมกซ์ของเรื่อง หนังทำให้คนดูอย่างเรา ติดตามไปได้ตลอด

แต่แม้ตัวหนังเองจะมีไอเดียนำเสนอที่ดีและแตกต่าง (ผมไม่แน่ใจว่า 2 เรื่องนี้ที่พูดถึง ใครสร้างก่อนใคร หรือใครได้อิทธิพลจากใครบ้างหรือเปล่า) แต่สุดท้ายแล้ว อารมณ์ของความเป็นหนังสยองขวัญ (กึ่งไซไฟ) ของเรื่องนี้ก็ยังเดินตามรอยเดิมของหนังส่วนใหญ่ในฮอลลีวู้ด

สังเกตุได้ว่า แม้ตัวหนังเองเมื่อเทียบกับ Paranormal Activity แล้วจะมีการดำเนินเรื่องที่ตื่นเต้นรวดเร็ว (หนังยาวประมาณ 90 กว่านาทีเช่นกัน) เรียกได้ว่าคนดูร้อยคน ก็น่าจะดูด้วยความตั้งใจหรืออย่างน้อยก็ดูจบทั้งร้อยคน แต่ Paranormal Activity อาจจะมีซัก 20 คนที่ไม่ถูกใจ นอนหลับไปก่อนหนังจบก็ได้ (นี่นับเฉพาะคนดูแผ่นอยู่กับบ้านนะครับ) แต่เมื่อนำเอาตัวเลขรายได้มาพิจารณาแล้ว กลับแตกต่างกันมาก

ขณะที่เรื่องแรก ได้ไปเนาะ ๆ 180 กว่าล้านดอลล่าห์ทั่วโลก แต่ 4th kind กลับทำรายรับน่าผิดหวัง 45 ล้านดอลล่าห์ทั่วโลก
เป็นดัชนีอย่างหนึ่งที่ชี้วัดว่าบางที (หรือหลายที) สตูดิโอก็สู้อินดี้ไม่ได้เหมือนกัน

หนังจบลงแทบจะคล้ายกันกับ Paranormal Activity เลย คือมีเนื้อหาเล่าต่อจากเรื่องจบ เพื่อย้ำให้เกิดความสมจริงยิ่งขึ้น

สิ่งหนึ่งในหนังที่รู้สึกขัดใจผม และคงอีกหลายคนเป็นอย่างยิ่ง คือ ไอ้นายอำเภอในเรื่อง หลายคนคงดูแล้วคิดในใจว่า มันจะดื้อด้านและเกรียนไปถึงไหน

จริง ๆ แล้วถ้าตัวละครนี้ไปอยู่ในหนังสยองขวัญวัยรุ่น เกรดบี ก็คงทำนายชะตากรรมได้ไม่ยาก

โดยภาพรวมแล้วสำหรับผมเอง ถือว่าเป็นหนังที่ดูสนุก และประทับใจกับไอเดีย และความตั้งใจของผู้สร้างนะครับ

แต่อย่างว่าแหละ เรื่องแรก สำหรับคนที่ชอบก็จะชอบมากถึงมากที่สุด คนที่ไม่ชอบก็จะไม่ชอบเลย แต่กับเรื่องนี้คิดว่าส่วนใหญ่ดูแล้วน่าจะโอเค ชอบมาก ชอบน้อย แตกต่างกัน แต่ความที่หนังต่างกัน จึงเทียบกันไม่ได้

เหมือนเอา Lost มาเทียบกับ Prison Break ยังไงยังงั้น

ผมให้คะแนนความพยายามและไอเดียการนำเสนอของหนังซัก 6.5/10 คะแนนครับ

ดูกันชัด ๆ Charlotte Milchard ผู้แสดงเป็น Dr.Abigail Tyler ตัวจริงที่ปลอมขึ้นมาในเรื่อง (เอ๊ะ ยังไง)

ข้อมูลเพิ่มเติมของหนังเรื่องนี้นะครับ
สิ่งที่เป็นเรื่องจริงอย่างเดียวในเรื่องนี้คือ

เคยมีเอฟบีไอเดินทางไปทำคดีคนหายหลายครั้งที่เกิดขึ้นในเมืองโนม อลาสก้าที่เป็นโลเกชั่นในเรื่องจริง แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์จานบินลึกลับแต่อย่างใด